WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

น้ำมันถูกกดเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ1ปี เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ107.32

     แนวหน้า : น้ำมันถูกกดเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 1 ปี เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 107.32 พาณิชย์ยืนยันยังไม่ถึงขั้นเงินฝืด

    เงินเฟ้อเดือนตุลาคมเท่ากับ 107.32 เพิ่มขึ้น 1.48% ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เหตุราคาน้ำมัน อาหาร ชะลอตัวลง พาณิชย์การันตียังไม่เข้าภาวะเงินฝืด มั่นใจทั้งปีอยู่ในกรอบ 2-2.8%

     นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนตุลาคม 2557 ว่าเดือนตุลาคมดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(เงินเฟ้อ) ของประเทศ เท่ากับ 107.32 ลดลง 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และสูงขึ้น 1.48% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งยังเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากราคาอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผักสด ราคาลดลง เพราะสภาพอากาศที่เหมาะสม ผลผลิตมาก

     ประกอบกับราคาพลังงานลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศลดลงตามไปด้วย ทำให้สินค้าหลายตัวลดต่ำลงด้วย ทั้งนี้เมื่อเทียบช่วง 10 เดือนของปี(มกราคม-ตุลาคม 2557) ดัชนีราคาฯ สูงขึ้น 2.08% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2557 จะอยู่ที่ 2.14% ซึ่งอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 2.0-2.8%

    “ในช่วงปกติของปลายปี อัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงอยู่แล้วจะมีเพียงราคาพลังงานเท่านั้นที่สูงจากประเทศเมืองหนาวใช้พลังงานมาก แต่ขณะนี้ราคาพลังงานลดต่ำลง เงินเฟ้อช่วงปลายปีจึงต่ำ โดยในช่วง 2 เดือนที่เหลือ แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อจะไม่สูงมาก น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนนี้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ถึงขั้นของภาวะเงินฝืด หากเป็นเงินฝืด ราคาสินค้าทั่วประเทศต้องต่ำเหมือนกันทุกภูมิภาค แต่ขณะนี้ในแต่ละภูมิภาคมีต่ำบ้างสูงบ้าง ตามเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นๆ เป็นสำคัญ”

     สำหรับ ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า 450 รายการในช่วงเดือนตุลาคมพบว่ามีสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 255 รายการ เช่น เนื้อโค ไก่ย่าง หอมหัวแดง ผลไม้สด เครื่องปรุงรส ขนมหวาน ก๋วยเตี๋ยว ค่าเช่าบ้าน ค่าแรงปูกระเบื้อง สบู่ถูตัว เป็นต้น สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 154 รายการ และสินค้าที่ราคาปรับลดลง 91 ราการ เช่น เนื้อสุกร แหนม ไข่ไก่ ผักสด น้ำมันพืช กระเทียม น้ำยาปรับผ้านุ่น แป้งทาผิว น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

    ส่วนกรณี ที่จะมีการปรับค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษขึ้น ในวันที่22 ธันวาคมนี้ จะกระทบต่อเงินเฟ้อ เพียง 0.00103%การปรับขึ้นค่าแท็กซี่ จะกระทบต่อเงินเฟ้อ เพียง 0.00144% และการปรับขึ้นราคาของทั้งคู่จะกระทบต่อผู้บริโภคในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน การขึ้นก๊าซแอลจีวีภาคขนส่ง และเอ็นจีวี รวมการปรับขึ้นราคาทั้งหมดจะกระทบต่อเงินเฟ้อไม่ถึง 0.1%

    นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว จากการบริโภค และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เห็นได้จากดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจในเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้น 0.6% โดยเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 19 เดือน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการนำเข้า ภาษีศุลกากร ปริมาณการผลิตยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณ การผลิตเบียร์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์และปริมาณการผลิตจักรยานยนต์ ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของภาคผลิตอย่างชัดเจน และภาวะเศรษฐกิจในระยะ 3-5 เดือนนับจากนี้ ก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากภาคการก่อสร้าง การลงทุน และการท่องเที่ยว

    ขณะที่กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัย กรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 64 คน เรื่อง 'ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อการเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)' โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-21 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 78.1% เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.ที่เสนอให้เปลี่ยนการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) โดยไปใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป หรือ Headline Inflation แทนการใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation ในปี 2558 โดยมีเพียง 12.5% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ 43.8% เห็นว่า ธปท.ควรตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปไม่เกิน 3.0-4.0%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!