- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 27 May 2014 00:24
- Hits: 3656
ไทยลุ้นสหรัฐฯต่อ'จีเอสพี'รู้ผลหลังเลือกตั้งทั่วไปปลายปีนี้
แนวหน้า : ไทยตั้งเป้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3% ด้าน’ทูตพาณิชย์’บอกอย่ายึดติดการให้’จีเอสพี’แบบมีเงื่อนไขของสหรัฐฯ แนะผู้ส่งออกควรมุ่งพัฒนาสินค้าบริการสู่การส่งออกยั่งยืนดีกว่า
น.ส.เบ็ญจวรรณ อุกฤษ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยไปสหรัฐฯในช่วง 3 เดือนแรก(ม.ค.-มี.ค.2557)ของปีนี้ มีมูลค่า 5,541 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.6% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น โดยปี 2556 มีมูลค่าการค้ารวม22,959 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.8% โดยปีนี้ไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯไว้ที่มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ขยายตัว 3%
ส่วนแนวโน้มการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)นั้นคาดว่า สหรัฐฯจะมีการการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2557 ดังนั้นสหรัฐฯจะมีการต่ออายุจะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งดังกล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การที่ สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ(AFL-CIO)ได้ยื่นคำขอต่อ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์)ให้พิจารณาทบวนการให้สิทธิจีเอสพีต่อไทย ซึ่งล่าสุดฝ่ายไทยได้เข้าเจรจา โน้มน้าวและส่งข้อมูลโต้แย้งที่จัดเตรียมไว้ 2 ครั้ง รวมถึงยูเอสทีอาร์และกระทรวงแรงงาน สหรัฐฯได้เดินทางมาไทยเพื่อพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว
สำหรับหลักการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีจะให้สิทธิลดภาษีนำเข้า 0% กับสินค้าที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่มีเงื่อนไขมากนัก แต่ภายหลังสหรัฐได้ปรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิใหม่ ลดระยะเวลาจากเดิมคราวละ 10 ปี เหลือปีต่อปี และมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิมากขึ้น เช่น การให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การใช้แรงงานเด็ก, แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ เป็นประเด็นที่ทางเอกชนสหรัฐใช้เป็นเงื่อนไขกดดันให้รัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี
“แนวยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในเชิงรุกจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ การสร้างตราสินค้า ให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลกได้อย่างยั่งยืน ไม่ยึดติดกับจีเอสพี หรือ สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ให้แบบมีเงื่อนไข ซึ่งคู่ค้านำมาต่อรองเพื่อกดดันให้เร่งแก้ไขกฎหมาย หรืออื่นๆ อันเป็นปัญหาอุปสรรคทางการค้า และสร้างปัญหาเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องในระบบการค้าระหว่างกัน”น.ส.เบ็ญจวรรณ กล่าว
ส่วนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี)ที่ปัจจุบันมีภาคี 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนามและญี่ปุ่นนั้น ทาง สหรัฐฯตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามหลายประเด็นยังตกลงกันไม่ได้ อาทิ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดสินค้า แรงงานฯลฯ โดยสำนักงานฯจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลที่มีต่อไทยต่อไป