- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 03 April 2021 19:25
- Hits: 5918
ไทย-ตุรกี นัดเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 7 ลุยเปิดตลาดสินค้า ลด เลิกภาษี ตั้งเป้าปิดดีลปี 65
ไทย-ตุรกีนัดประชุมผ่านระบบทางไกล เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 7 เน้นการเปิดตลาดการค้าสินค้า ลดและยกเลิกภาษี และจัดทำข้อบทที่เหลือ ตั้งเป้าปิดดีลการเจรจาให้ได้ภายในปี 65 เผยหากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การค้า 2 ฝ่ายขยายตัวได้ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย–ตุรกี รอบที่ 7 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.–2 เม.ย.2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมครั้งนี้ จะเน้นการหารือเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากร และการเจรจาจัดทำข้อบทเอฟทีเอ ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการเจรจารอบที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสรุปการเจรจาภายในปี 2565
“ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำเอฟทีเอไทย–ตุรกีมาโดยตลอด แม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 หัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายยังได้หารือผ่านระบบทางไกลเป็นระยะ เพื่อปรับแผนการเจรจาให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน”
ทั้งนี้ ประเมินว่า หากความตกลงเอฟทีเอมีผลบังคับใช้ จะช่วยให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น
สำหรับตุรกีเป็นตลาดสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีความใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจการค้า และยังมีความตกลงสหภาพศุลกากรกับอียู ซึ่งถือเป็นความตกลงที่มีความเข้มข้นทางเศรษฐกิจการค้า อีกทั้งยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ ซึ่งเป็นประตูสู่ 4 อนุภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ สหภาพยุโรป และยุโรปตะวันออก
นอกจากนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทย-ตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 952 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 388 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี
aom39
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ