- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 04 November 2014 00:06
- Hits: 3074
ถกปิดบัญชีข้าว 13 พย. เจ๊งเกิน 7 แสนล. อคส.-อตก.คายสต๊อก
แนวหน้า : ถกปิดบัญชีข้าว 13 พย. เจ๊งเกิน 7 แสนล. อคส.-อตก.คายสต๊อก ใกล้เคียงข้อมูลชุด’ปนัดดา’ คลังปรับเกณฑ์คำนวณใหม่ ปชป.จี้รัฐเปิดผลเช็คโกดัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯเตรียมนัดประชุม เพื่อปิดบัญชีรับจำนำข้าวในวันที่ 13 พฤศจิกายน ตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้เร่งดำเนินการเร็วที่สุด โดยจะปิดบัญชีตามข้อมูลที่ได้รับจากองค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ล่าสุดได้ส่งข้อมูลมาครบถ้วนแล้ว
คลังนัดถกปิดบัญชีข้าว 13 พย.
"คณะอนุกรรมการฯสามารถปิดบัญชีได้แน่นอน ส่วนผลขาดทุนจากการรับจำนำจะมีมูลค่าสูงถึง 6-7 แสนล้านบาท ตามที่นักวิชาการประเมินไว้หรือไม่ ต้องรอผลการปิดบัญชีครั้งนี้ก่อน ส่วนกรณีที่มีข้าวหาย ก็ต้องสรุปกันว่าจะให้ลงบัญชีอย่างไรเพื่อให้ปิดบัญชีได้" นายรังสรรค์ กล่าว
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า อคส.และอ.ต.ก.ส่งข้อมูลสต็อคข้าวทั้งหมดให้คณะอนุกรรมการฯแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงและสอดคล้องกับตัวเลขของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่มีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ส่งผลการตรวจสต๊อกข้าวทั่วประเทศให้นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีข้าวเหลืออยู่ 18 ล้านตัน เป็นข้าวดีได้มาตรฐาน 10% หรือเท่ากับ 1.8 ล้านตัน มีข้าวคุณภาพต่ำสีเหลืองอยู่ 12.6 ล้านตัน มีข้าวเสื่อมสภาพ 9 แสนตันและข้าวหาย 1 แสนตัน โดยจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีข้าวได้รับอีกครั้ง
ปรับเกณฑ์วิธีการคำนวณใหม่
สำหรับหลักเกณฑ์การปิดบัญชีข้าวนั้น จากเดิมในชุดของน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีข้าวในขณะนั้น ปิดบัญชีโดยใช้ตามราคาของตลาดต่ำสุดในขณะที่ปิดบัญชี ซึ่งการปิดบัญชีล่าสุด เดือนพฤษภาคม 2556 มีผลขาดทุน 3.3 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การปิดบัญชีครั้งนี้ทางสภาวิชาชีพบัญชีได้เข้าร่วมคณะอนุกรรมการฯ และต้องการให้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ โดยให้ตีมูลค่าเป็นราคาตามคุณภาพข้าวที่แท้จริง เพื่อให้ผลขาดทุนสะท้อนออกมาอย่างเป็นจริง ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวคุณภาพดีราคาสูงกว่าตันละ 1 หมื่นบาทเล็กน้อยเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่างๆจะทำให้ราคาในตลาดเกิดการแข่งขัน ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นได้
คาดหนี้จำนำพุ่งกว่า 7 แสนล้าน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีข้าวหายไปจากสต็อคนั้น ทางสภาวิชาชีพบัญชีต้องการให้ลงเป็นขาดทุนทันที รวมถึงข้าวที่มีการทำสัญญาผูกพันก่อนขายในอนาคต ซึ่งได้กำหนดราคาขายเอาไว้ แต่ยังไม่มีการส่งมอบจริง ก็ต้องให้นำมาคิดผลขาดทุนตามสภาพ จากก่อนหน้านี้ไม่ได้นำมาคิด ซึ่งการปรับวิธีการปิดบัญชีใหม่ จะส่งผลให้ผลขาดทุนจำนำข้าวเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดสูงเกิน 7 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับข้อมูลที่รัฐบาลได้ระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น 7.7 แสนล้านบาท ที่ต้องหาวิธีการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน
“ก่อนหน้านี้ที่หน่วยงานทั้ง อคส.และอ.ต.ก.ส่งข้อมูลมาไม่ครบและมีความไม่ถูกต้องนั้น เพราะมีความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร เนื่องจากการปิดบัญชีในครั้งนี้ได้ปรับหลักเกณฑ์เล็กน้อยตามที่สภาวิชาชีพบัญชีร้องขอ ซึ่งขณะนี้ก็เดินหน้าปิดแล้วสำหรับคณะทำงาน รวมถึงวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอดูผลสรุปจากที่ประชุมวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้อีกครั้ง"แหล่งข่าว กล่าว
ออกพันธบัตรกู้เงินต้องชัดเจน
สำหรับ การออกพันธบัตร 30 ปี เพื่อล้างขาดทุนจำนำข้าวที่คาดว่าจะสูงถึง 7-8 แสนล้านบาท หากปิดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ตามที่สภาวิชาชีพต้องการนั้น แหล่งข่าวระบุว่า ต้องขอนโยบายจากนายสมหมาย ภาษี รมว.คลังและม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้แยกหนี้ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวออกมาเป็นกองต่างหาก และมีการออกกฎหมายกู้เงิน โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี และพันธบัตรอายุอื่นๆ มาใช้ขาดทุนจำนำข้าว และระบุไว้ในกฎหมายว่าต้องใช้เงินงบประมาณมาใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นทุกปี เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทำให้นักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมั่นใจ เหมือนกับการแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) จำนวน 1.4 ล้านล้านบาท ที่มีการออก พ.ร.ก. ให้นำเงินงบประมาณ และรายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้หนี้ให้หมดภายใน 30 ปี"วรงค์"จี้รัฐแถลงผลตรวจโกดัง
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ระบุผลสรุปการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวของคณะกรรมการตรวจสต๊อกข้าวที่มีม.ล.ปนัดดา เป็นประธานมีความคลาดเคลื่อนว่า ถ้าไม่เชื่อคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้แล้วจะเชื่อใคร เพราะที่ผ่านมามีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้าวแค่ 2 ชุดคือ รัฐบาลชุดแล้วที่ตั้ง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีการตรวจแค่ปริมาณข้าวและไม่รายงานให้สังคมรู้ และชุดที่มีม.ล.ปนัดดาเป็นประธาน ซึ่งตรวจทั้งปริมาณและคุณภาพ ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สังคมไทยรู้ว่าเกิดความเสียหายอย่างไร ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันควรเร่งแถลงผลตรวจ เพื่อให้ได้ข้อยุติ
คุมเข้มโจรข้าวเปลือกอาละวาด
ขณะที่ชาวนาจ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิชื่อดัง โดยจะนำมาตากแดดเพื่อไล่ความชื้นริมถนนรวมทั้งลานกีฬาในโรงเรียนและที่สาธารณะแทบทุกหมู่บ้าน นอกจากต้องเผชิญกับฝนตกประปรายแล้ว ยังต้องระมัดระวังคนร้ายจ้องโจรกรรมข้าวเปลือกที่ตากอยู่ตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยจัดเวรยามผลัดกันเฝ้าข้าวที่ตากไว้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดย พล.ต.ต.กาญจน์พศ ชัยศิริชาญพนา ผบก.ภ.จ.สุรินทร์กล่าวว่า เพื่อป้องกันคนร้ายเข้าโจรกรรมข้าวเปลือกของเกษตรกร จึงสั่งการให้ตำรวจสายตรวจทุกพื้นที่เพิ่มความเข้มในการออกตรวจโดยเฉพาะบริเวณถนนสายรองในหมู่บ้านที่เกษตรกรใช้ตากข้าว ป้องปรามโจรขโมยข้าว และกำชับให้ประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ ให้จัดเจ้าหน้าที่ อปพร.ของแต่ละหมู่บ้าน ออกตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องปรามกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว แต่ถ้าประชาชนพบเห็นเบาะแสการขโมยพืชผลทางการเกษตร ขอให้แจ้งตำรวจเข้าจับกุม ถ้าปล่อยให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นก็จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร