- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 07 March 2021 21:56
- Hits: 8421
อานิสงส์รัฐบาลลดค่า'ไฟฟ้า-ประปา'สินค้าอาหารสดลง ฉุดเงินเฟ้อก.พ.64 ลบ 1.17%
เงินเฟ้อ ก.พ.64 ลดลง 1.17% ลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน แต่ไม่น่ากังวล เหตุได้รับผลดีจากมาตรการรัฐบาล ลดค่า “ไฟฟ้า-ประปา” 2 เดือน แถมสินค้ากลุ่มอาหารสดปรับตัวลดลง สินค้าอื่นๆ ทรงตัว คาดมี.ค.ยังลดอีก เหตุยังลดค่าไฟ ค่าน้ำอยู่ แต่จะเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่เม.ย.เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อประชาชน
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.พ.2564 ลดลง 0.91% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2564 และลดลง 1.17% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2563 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่มี.ค.2563 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เทียบกับม.ค.2564 ลดลง 0.08% เทียบกับก.พ.2563 เพิ่มขึ้น 0.04% ขณะที่เงินเฟ้อรวม 2 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.75% และเงินเฟ้อพื้นฐานรวม 2 เดือน เพิ่มขึ้น 0.12%
ทั้งนี้ การหดตัวของเงินเฟ้อในเดือนก.พ.2564 ไม่น่ากังวล เพราะเป็นการลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) และยังได้ผลดีจากสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการผลิตและความต้องการบริโภค ยกเว้นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
“เงินเฟ้อเดือนก.พ.2564 ที่ปรับตัวลดลงถึง 1.17% ถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเลย ก็ถือว่าติดลบสูง แต่พอดูลึกเข้าไปพบว่าได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ประปา ที่เป็นตัวฉุดเงินเฟ้อลงมามาก และเดือนมี.ค.2564 เงินเฟ้อก็จะยังลดลงอีก เพราะมาตรการลดค่าไฟฟ้า ประปายังมีอยู่ แต่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.2564 เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชน โดยจะค่อยๆ ทยอยขึ้น”นายภูสิตกล่าว
สำหรับ รายละเอียดเงินเฟ้อเดือนก.พ.2564 ที่ลดลง 1.17% มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.60% โดยหมวดเคหสถานลด 4.98% เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.22% เช่น เสื้อยืดสตรี บุรุษ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.12% เช่น เครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม หมวดการรักษาและบริการส่วนบุคคล ลด 0.04% เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ ผ้าอนามัย แต่หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 0.98% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารสาธารณะ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.03% เช่น สุรา เบียร์
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลด 0.43% ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 5.93% ผักสด ลด 3.53% เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 0.34% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลด 0.30% เช่น น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม แต่กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม1.02% เช่น เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม ผลไม้สด เพิ่ม 0.78% เช่น กล้วยน้ำว้า องุ่น ฝรั่ง เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.35% เช่น น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ซีอิ้ว อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เพิ่ม 0.32% และ 0.54% เช่น ข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า ไก่ทอด พิซซ่า
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปี 2564 สนค.ยังคงประเมินว่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% มีค่ากลางอยู่ที่เพิ่ม 1.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ภาพรวม
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.17 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลต่อไทยในเดือนมีนาคมปีก่อน อย่างไรก็ตาม การหดตัวในเดือนนี้มีปัจจัยหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.–มี.ค. 64) ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาที่ต่ำกว่าปีก่อน
ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคของประชาชน ยกเว้น น้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.04 (YoY)
เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมากในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ ในขณะที่สถานการณ์ด้านการผลิตและบริโภคเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อัตราการว่างงาน และรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจยังออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มขยายตัวตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.17 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.60 โดยหมวดเคหสถาน ลดลงค่อนข้างมากที่ร้อยละ 4.98 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.22 (เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.12 (เครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.04 (ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ถูตัว ผ้าอนามัย) ขณะที่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.98 จากการปรับสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (สุรา เบียร์) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.43
ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 5.93 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) ผักสด ลดลงร้อยละ 3.53 (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 0.34 (นมสด นมถั่วเหลือง นมผง) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.30 (น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม) ขณะที่กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.02 (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม) ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.78 (กล้วยน้ำว้า องุ่น ฝรั่ง) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.35 (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว) อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.32 และ 0.54 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า ไก่ทอด พิซซ่า)
ดัชนี ราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ลดลงร้อยละ 0.91 (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.75 (AoA)
ดัชนี ราคาผู้ผลิต
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (YoY) กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 12 เดือน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ขยายตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงยังคงขยายตัวได้ดี ที่ร้อยละ 3.9 ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายรายการปรับสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กลุ่มพืชล้มลุก (ข้าวเปลือกเจ้า มะนาว พริกสด) กลุ่มพืชยืนต้น (ลำไย ผลปาล์มสด ยางพารา) กลุ่มสัตว์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด) ผลิตภัณฑ์จากการประมง (ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
และปริมาณผลผลิตสินค้าบางรายการลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และถุงมือยาง) กลุ่มเครื่องดื่ม (สุรากลั่น) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ (ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู/น็อต) กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง) สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (เม็ดพลาสติก) เนื่องจากอุปทานลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงาน ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (รถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก) เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) ตามราคาตลาดโลก ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.1 (น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ) ตามภาวะราคาในตลาดโลก
ดัชนี ราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.2 (AoA)
ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.3 (YoY) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา โดยเดือนนี้สูงขึ้นร้อยละ 21.0 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก) ตามความต้องการและราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุน ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (บานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.6 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (ยางมะตอย) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น) ขณะที่บางหมวดสินค้าราคาปรับลดลงเนื่องจากภาคการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา และการแข่งขันสูง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.7 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป) หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.7 (กระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.5 (ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง) และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 (สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง ซิลิโคน)
ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.0 (AoA)
แนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนมีนาคม 2564
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2564 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลของมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชนด้านสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) ที่ยังมีผลต่อเนื่องจากเดือนนี้ รวมทั้งราคาข้าวสารที่ยังต่ำกว่าปีก่อน และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิต ในขณะที่ราคาน้ำมันในปีนี้อาจผันผวนบ้างตามสถานการณ์ราคาโลก แต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ +1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ