- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 02 November 2014 21:50
- Hits: 2757
พาณิชย์ ดันกม.แข่งขันฯเข้าครม.15 ธค. สกัด'รายใหญ่'ค้าเอาเปรียบ
แนวหน้า : เดินหน้ารื้อกม.แข่งขันการค้า ป้องกันเจ้าตลาดกลั่นแกล้งรายย่อยแบบไม่เป็นธรรม กำหนดผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด คือผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาด 30% จากเดิม 50%
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2557 ได้หารือถึงการปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในอนาคตที่กำลังจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ซึ่งจะมีการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย ประกอบกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยมีมาแล้วกว่า 10-15 ปี ซึ่งประเทศแรกๆ ในเอเชีย แต่ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้ยังไม่ค่อยเข้มแข็ง การดำเนินงานยังค่อนข้างมีปัญหา ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้มีการทบทวนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา
“มติที่ประชุมเห็นชอบแนวทางปรับปรุงพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ตามที่กรมการค้าภายใน ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว และกำหนดให้กรมการค้าภายในยกร่างกฎหมายฯ และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 15 ธ.ค. 2557 ก่อนประกาศในกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป”นางอภิรดี กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการ ได้มีการพิจารณาในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า คือ ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด และรับข้อสังเกตของคณะกรรมการ เพื่อประกอบการพิจารณาในการ
แก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดให้ทุกธุรกิจใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณาการเป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด มีดังนี้
1.เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาด 30% ในปีที่ผ่านมา และมียอดขายในปีที่ผ่านมา 500 ล้านบาทขึ้นไป 2.ผู้ประกอบการ 3 รายแรก ในธุรกิจสินค้า หรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ 75%ขึ้นไป และมี
ยอดขายในปีที่ผ่านมา 500 ล้านบาทขึ้นไปต่อราย แต่ยกเว้นว่าจะมีรายใดรายหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมา ต่ำกว่า 10% หรือยอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้จากเดิมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดต้องมีส่วนแบ่งตลาด 50%ขึ้นไป และยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี
“การกำหนดกฎเกณฑ์ธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดเพื่อใช้ร่วมกันของธุรกิจทุกประเภทนั้น ไม่ได้เป็นการกำหนดเป็นการลงโทษ หรือเอาผิดใดๆ เพราะผู้มีอำนาจเหนือตลาดก็ไม่กระทำผิดใด แต่ที่กำหนดกฎเกณฑ์ เป็นการป้องกันไว้เท่านั้น ซึ่งก่อนที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมา ทางคณะกรรมการ ได้ประเมิน พร้อมดัดแปลงส่วนที่เหมาะสมกับการค้าของไทยแล้ว จากหลักเกณฑ์ของกลุ่มที่การค้าที่สำคัญของโลก เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี สหรัฐ ยุโรป เป็นต้น”
อีกทั้ง เมื่อมีการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)แล้ว ธุรกิจที่จะทำการแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการควบรวมธุรกิจ เพื่อให้มีฐานธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น เพื่อความสามารถในการแข่งขัน จึงได้มีมติมอบให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการหรือกรมการค้าภายใน(คน.) ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเรื่องเกณฑ์การรวมธุรกิจ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา จากนั้นได้ให้อนุกรรมการ ดำเนินการทบทวนเกณฑ์การรวมธุรกิจก่อนยกร่างกฎหมาย ซึ่งได้ข้อคิดเห็นมาด้วยกัน 10 ประการ เพื่อนำไปพิจารณา ประกอบด้วย
1.การบังคับใช้กฎหมายกับรัฐวิสาหกิจด้วย หลังจากได้บังคับแค่กับเอกชน 2.การยกระดับองค์กรกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมาย 3.องค์ประกอบคณะกรรมการ 4.คำนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจ” 5.ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศแนวทางปฏิบัติเรื่องต่างๆ 6.ปรับแก้ไขมาตรา 26 วรรคสอง เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ ให้เพิ่มการพิจารณาในขนาดธุรกิจและบริษัทในเครือรวมอยู่ด้วย 7.กำหนดให้มีมาตรการลดหย่อนผ่อนโทษ 8.ปรับบทกำหนดโทษ 9.เพิ่มบทบัญญัติเรื่องสภาพการบังคับใช้นอกราชอาณาจักร และ 10.เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้สั่งฟ้องได้เอง และให้คณะกรรมการมีอำนาจคล่องตัวมากขึ้น โดยเพิ่มคำว่า “อาจ” ในมาตรา 31 ซึ่งเป็นบทลงโทษในการป้องกันการผูกขาด
นอกจากนี้ ยังได้มีมติแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการสอบสวนจำนวน 5 คณะ เพื่อสอบสวนในเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมา 5 เรื่อง คือ 1.บริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ขายไข่ไก่ต่ำกว่าต้นทุน 2.การห้ามเอเย่นต์สุราจำหน่ายสุราชุมชน 3.โรงน้ำแข็งตกลงร่วมกันในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำแข็ง 4.ผู้มีอำนาจเหนือตลาดสินค้ายางพาราแอนฟัลท์อิมัลชั่นปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม และ5.การค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจเครื่องจักรปรับปรุงคุณภาพผลิตผลการเกษตร โดยได้มีกำหนดระเวลาให้ทำงานเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน
พณ.ชง ครม.แก้ กม.การค้าใหม่
บ้านเมือง : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้าใหม่โดยทบทวนในส่วนของหลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้เข้มงวดมากขึ้นตามโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ประมาณ 30% มียอดขายตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดเพื่อให้สะดวกต่อการตรวจสอบ หากมีการร้องเรียนการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และในส่วนของการควบรวมธุรกิจนั้นจะมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน นอกจากนี้จะมีการเสนอให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ โดยการทบทวนยกร่างกฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 ธ.ค. เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบก่อนออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
นายประโยชน์ เพ็ญสุต ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะธุรกิจในช่วงเดือนกันยายน 2557 จำนวน 1,868 ราย ดัชนีภาวะธุรกิจปัจจุบันมีค่า 46.1 สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 43.0 ดัชนีดังกล่าวแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าค่า 50 เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนต่างๆ ภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ยังชะลอตัวจากผลกระทบที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจอีก 3 เดือนข้างหน้ามีค่า 64.5 และคาดการณ์ปี 2558 มีค่า 75.6 ซึ่งมีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2557 และปี 2558 มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ส่งผลให้การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การเมืองมีเสถียรภาพ และการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น จากการที่รัฐบาลจะเข้ามาดูแลรวมทั้งมีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคการเกษตรและผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะให้เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชนให้สูงขึ้น ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนและเชื้อเพลิงให้คงที่ ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ลดการคอรัปชั่น ควรดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตร และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น