- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 27 February 2021 10:39
- Hits: 973
DITP เดินหน้าโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออก ประจำปี 2564 ดันสินค้าเกษตรไทย สู่ตลาดโลกด้วยแพลตฟอร์มโลจิสติกส์
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออก เวทีส่งเสริมการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรด้วยระบบโลจิสติกส์ยุคใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้อง Auditorium สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโลและห้องเย็น สมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม และสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ดำเนินโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออก เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรกร และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ตลอดจนมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย
“โครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออกจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ และสินค้าเกษตรของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรด้วยระบบโลจิสติกส์ยุคใหม่ สร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการสินค้าเกษตร และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ที่จะส่งเสริมและผลักดันให้สินค้าเกษตรของไทยมีความพร้อมในการส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ และสินค้าเกษตรของไทย นำไปสู่รูปแบบโลจิสติกส์การเกษตรเพื่อการส่งออกที่เหมาะสม ใช้งานได้จริง รวมทั้งนำเทคโนโลยีบริหารจัดการในมิติต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำสินค้าของตนไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ” นายเอกฉัตร กล่าว
นางสาววัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวถึงความร่วมมือของการดำเนินโครงการว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ภาคส่วนธุรกิจโลจิสติกส์จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในกระบวนการส่งออกและลดอุปสรรคของการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ด้านการจัดการเอกสาร พิธีศุลกากร การขนส่งภายในและระหว่างประเทศ และ Last Mile Delivery รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ปรับตัวสู่การค้าระหว่างประเทศในยุคดิจิทัล”
“โครงการนี้จะช่วยให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจการเกษตรในส่วนภูมิภาคได้อย่างมั่นคงต่อไป” นางสาววัลภา กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร. อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย กล่าวว่า เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากปัจจัยต่างๆ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออกจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาในการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรในการขนส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยตนเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงสามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้อย่างสมเหตุสมผล เกิดการพัฒนาร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และภาคเกษตรกรรมไทย สามารถแข่งขันและก้าวสู่ตลาดโลกได้
นอกจากนี้ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “โลจิสติกส์ยุคใหม่ แต้มต่อทางธุรกิจของเกษตรกรไทย” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ นายกสมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย รัตนวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายธเนศ พิริย์โยธินกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า พัฒนาธุรกิจ และการลงทุน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแบ่งปันแนวคิดมุมมอง และแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมกว่า 30 ราย
สำหรับ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เกษตรกร ผู้ประกอบการสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปในพื้นที่เขตภาคเหนือที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มีนาคม 2564 ผ่านเว็บไซต์ www.tradelogistics.go.th/logplus หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ