- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 31 October 2014 21:21
- Hits: 2932
ดัชนี คาดภาวะธุรกิจไตรมาส 4 แนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง
แนวหน้า : นายประโยชน์ เพ็ญสุต ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะธุรกิจในช่วงเดือนกันยายน 2557 จำนวน 1,868 ราย ดัชนีภาวะธุรกิจปัจจุบันมีค่า 46.1 สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 43.0 ดัชนีดังกล่าวแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าค่า 50 เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนต่างๆ ภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวจากผลกระทบที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจอีก 3 เดือนข้างหน้ามีค่า 64.5 และคาดการณ์ปี 2558 มีค่า 75.6 ซึ่งมีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2557 และปี 2558 มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ส่งผลให้การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การเมืองมีเสถียรภาพ และการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว
สำหรับ ผลการสำรวจภาวะธุรกิจรายสาขา ผู้ประกอบการเกือบทุกสาขาเห็นว่าภาวะธุรกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น ยกเว้นสาขาเกษตรกรรม เนื่องจากปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่ลดลง กอปรกับเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีปริมาณผลไม้และสินค้าเกษตรเข้าสู่ท้องตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ซึ่งสวนทางกับการที่ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น จากการที่รัฐบาลจะเข้ามาดูแลรวมทั้งมีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคการเกษตรและผู้ประกอบการรายย่อย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะให้เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชนให้สูงขึ้น ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนและเชื้อเพลิงให้คงที่ ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ลดการคอร์รัปชั่น ควรดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตร และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ย. -3.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน ก.ย.57 หดตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.10%
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการ สศอ.รักษาการแทนผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนกันยายน 2557 หดตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน แต่ดัชนีการส่งสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.10% สำหรับอุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย และผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์เดือนกันยายนปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และตลาดที่ปรับตัวสู่สมดุลหลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก ด้านการส่งออกรถยนต์เดือนกันยายน ปี 2557 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.49% โดยเป็นการลดลงของตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกันยายน 2557 ปรับตัวลดลง 3.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.59% เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ พัดลมตามบ้าน กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้น 50.32%, 41.72%, 8.16% และ 7.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง 4.54% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการผลิตปรับตัวลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์-ไดรฟ์ ปรับตัวลดลง 9.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กลับมามีอัตราการหดตัว ด้านภาวะการส่งออกในเดือนกันยายน 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.05% ส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 4.37% ซึ่งมาจากการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกและความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแผงวงจรไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ ทำให้การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่าสูงตามไปด้วย
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยในเดือนกันยายนปี 2557 มีปริมาณ 1.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.67% การส่งออกมีมูลค่า 73.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 7.58% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 641.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.65% โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวการบริโภคและการผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้าจากจีน ซึ่งแม้จะมีการใช้มาตรการ AD ในส่วนของเหล็กลวด(5%) แต่ก็ยังมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศดังกล่าวอยู่
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ เดือนกันยายน ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ ในส่วนกลุ่มผ้าผืน มีการผลิตลดลง แต่การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตไว้ส่งมอบในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้น และยังมีคำสั่งชื้อจากต่างประเทศเริ่มทยอยเข้ามา ด้านการส่งออกเดือนกันยายน ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ เนื่องจากมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 23.03% และปากีสถาน เพิ่มขึ้น 28.76% ส่วนกลุ่มผ้าผืน การส่งออกมีมูลค่าลดลง ในตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ ตลาดเวียดนาม บังคลาเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น ในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น แต่จะลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เดือนกันยายน ปี 2557 ภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน 17.0% เนื่องจากการผลิตผลิตมันสำปะหลัง และผักผลไม้ที่ลดลง เป็นผลจากปัญหาวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค และภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะงักงัน ส่วนด้านการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น 9.7% เนื่องจากการได้รับผลดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป
อินโฟเควสท์