- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 31 January 2021 13:06
- Hits: 6576
กรมเจรจาฯ ชี้สินค้าหลายรายการเสี่ยงโดนเท อียูหันซื้อเวียดนาม หลังเอฟทีเอบังคับใช้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดโพยสินค้าที่ต้องจับตา พบมีหลายรายการมีความเสี่ยงที่อียูจะหันไปนำเข้าจากเวียดนามแทน หากต้นทุนถูกกว่า หลังเอฟทีเอมีผลบังคับใช้แล้ว แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสู้ และใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอส่งไปขายคู่ค้าอื่น รวมถึงเตรียมใช้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดอียู พร้อมแก้เกมเร่งเดินหน้าฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประเมินกลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยต้องจับตามองและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับเวียดนาม ที่ได้มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 โดยพบว่ามีสินค้าที่ต้องจับตา เช่น เส้นพาสต้า ข้าว ปลาปรุงแต่ง ปลาหมึกกระป๋อง ยางล้อรถจักรยาน ทุเรียน และน้ำผักและผลไม้ เป็นต้น เพราะเดิมอียูนำเข้าจากไทยจำนวนมาก แต่อาจมีการนำเข้าจากเวียดนามแทน หากต้นทุนการนำเข้าจากเวียดนามถูกกว่า
ทั้งนี้ อียูและเวียดนามได้เปิดตลาดการค้าสินค้า โดยยกเว้นภาษีระหว่างกันในระดับสูง หรือกว่า 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดอียู ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสินค้า รวมถึงใช้ช่องทางการส่งออกด้วยสิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอฉบับต่างๆ ที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น อาเซียน จีน และญี่ปุ่น รวมทั้งเตรียมการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต เพื่อเร่งขยายการค้าในตลาดอื่นๆ และลดความเสียเปรียบทางภาษีศุลกากรที่หายไปในตลาดอียู
นางอรมน กล่าวว่า นอกจากอียูจะทำเอฟทีเอกับเวียดนามและสิงคโปร์แล้ว ยังมีประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นที่อียูอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ เช่น อินโดนีเซีย และพิจารณาฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย ซึ่งในส่วนของไทย กรมฯ อยู่ระหว่างการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพิจารณาเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียู หากทุกภาคส่วนเห็นพ้องว่าควรฟื้นการเจรจา กรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษาและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำกรอบเจรจาเสนอกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ในปี 2563 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 17,637 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางทัศนศาสตร์ และยานยนต์และชิ้นส่วน และนำเข้าจากอียูมูลค่า 15,496 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอัญมณีและเครื่องประดับ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ