WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1a Bธันวาคม

พิษโควิด-19 ฉุดตั้งบริษัทใหม่ปี 63 ยอดรวม 63,340 ราย ลด 11% มั่นใจปี 64 ฟื้นตัว

     กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดบริษัทตั้งใหม่เดือนธ.ค.63 มีจำนวน 3,287 ราย หลังคนไม่นิยมลงทุนทำธุรกิจช่วงปลายปี ไม่ต้องการทำบัญชีและส่งงบการเงิน ส่วนเลิกกิจการมีจำนวน 6,013 ราย สูงสุดรอบปี เพราะไม่อยากมีภาระต้องทำบัญชีในปีต่อไป และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบุทั้งปี 63 ตั้งใหม่รวม 63,340 ราย ลด 11% เจอพิษโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ คาดปี 64 ฟื้นตัว ตั้งเป้า 64,000-66,000 ราย

      นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจในเดือนธ.ค.2563 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 3,287 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2563  ลดลง 27% และเทียบกับเดือนธ.ค.2562 เพิ่มขึ้น 4% โดยมีทุนจดทะเบียน 27,587 ล้านบาท เทียบกับพ.ย.2563 เพิ่มขึ้น 77% เทียบกับ ธ.ค.2562 เพิ่มขึ้น 29% โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคารและร้านอาหาร

      ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 6,013 ราย เทียบกับพ.ย.2563 เพิ่มขึ้น 145% เทียบกับธ.ค.2562 เพิ่มขึ้น 6% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 16,726 ล้านบาท เทียบกับพ.ย.2563 ลดลง 14% เทียบกับ ธ.ค.2562 ลดลง 23% และธุรกิจที่เลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร

      “การจดทะเบียนตั้งใหม่เดือนธ.ค.2563 ที่มีจำนวนน้อยลง ถือเป็นปกติของการจดทะเบียนทำธุรกิจใหม่ในช่วงปลายปี ที่ยอดตั้งใหม่มักจะลดลง เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องการที่จะทำบัญชีและส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2563 และคาดว่าการจดทะเบียนตั้งใหม่ จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค.2564 เป็นต้นไป ส่วนยอดเลิกที่มีจำนวนมากที่สุดในรอบปีนั้น เนื่องจากต้องการทำบัญชีให้แล้วเสร็จภายในรอบปีบัญชี ไม่ต้องการให้เป็นภาระในรอบปีถัดไป และยังเจอโควิด-19 ทำให้ชะลอการจดเลิกระหว่างปี และมาจดเลิกในเดือนสุดท้ายของปีแทน”นายทศพลกล่าว

       นายทศพล กล่าวว่า สำหรับยอดรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 63,340 ราย เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวน 71,485 ราย ลดลง 8,145 ราย หรือลดลง 11% ซึ่งอยู่ในเป้าหมายที่กรมฯ ได้ประเมินไว้ว่ายอดจดทะเบียนตั้งใหม่ทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ 63,000-64,000 ราย เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดประเทศและปิดเมือง ช่วงมี.ค.-ก.ค.2563 ผู้ประกอบการจึงชะลอทำธุรกิจ โดยมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 235,272 ล้านบาท ลดลง 28% ส่วนธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร ขณะที่ยอดเลิกกิจการปี 2563 มีจำนวน 20,920 ราย ลดลง 5% ส่วนยอดเลิกในปี 2563 มีจำนวน 20,920 ราย ลดลง 5%

       ทั้งนี้ ปี 2564 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ที่ 64,000-66,000 ราย เพราะหลายฝ่ายมีการประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีทิศทางดีขึ้น และเริ่มที่จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้สถานการณ์การใช้ชีวิตเริ่มที่จะกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัว แต่ก็ยังต้องระวังโควิด-19 ที่กลับมาระบาดใหม่ โดยต้องรอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลได้

      ล่าสุด มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563) จำนวน 769,208 ราย มูลค่าทุน 19.17 ล้านล้านบาท แยกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 187,015 ราย คิดเป็น 24.31% บริษัทจำกัด จำนวน 580,911 ราย คิดเป็น 75.52% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,282 ราย คิดเป็น 0.17% ตามลำดับ

 

กรมพัฒน์ฯ ลดแออัด เปิดให้บริการ 'จองคิวออนไลน์' จดทะเบียนธุรกิจพื้นที่กรุงเทพฯ

      กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการ 'จองคิวผ่านระบบออนไลน์' สำหรับการจดทะเบียนธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการแออัด และการแพร่ระบาดของโควิด-19 เผยสามารถจองคิวได้ผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เลือกใช้บริการได้ 7 แห่ง วันละ 14 รอบ แต่ถ้าไม่อยากเดินทางมาที่หน่วยบริการ แนะใช้ช่องทางออนไลน์แทน แถมได้ลดค่าธรรมเนียม 50%

     นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดให้บริการ 'จองคิวผ่านระบบออนไลน์' เพื่อลดระยะเวลารอรับบริการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และลดความแออัดในส่วนให้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะในแต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางเข้ามาใช้บริการงานจดทะเบียนธุรกิจเป็นจำนวนมาก จึงต้องให้ความสำคัญและห่วงใยถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ แม้ว่ากรมฯ จะมีมาตรการทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อในสถานที่ให้บริการอยู่ตลอด และจัดพื้นที่เว้นระยะห่างแล้วก็ตาม

   ทั้งนี้ การจองคิวผ่านระบบออนไลน์ สามารถเลือกใช้ได้ 2 ช่องทางคือ 1.ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th และ 2.แอปพลิเคชัน DBD e-Service โดยขั้นตอนการใช้งานมีดังนี้ เลือกหัวข้อ บริการออนไลน์ จากนั้นเลือก จองคิวจดทะเบียนนิติบุคคล ระบบจะให้เลือกหน่วยงานที่ต้องการเข้าไปใช้บริการ เลือกวันและเวลา กรอกรายละเอียดของนิติบุคคลและผู้ที่จองคิว จากนั้นจะได้รับเลขการจองคิวเพื่อใช้สำหรับยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในวันที่เดินทางมาใช้บริการ

     โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้บริการได้ที่หน่วยงานบริการของกรมฯ ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ชั้น 4 ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 โดยช่วงเวลาการจองคิว ผู้ใช้บริการสามารถเลือกเวลาเข้าใช้บริการได้จำนวน 14 รอบ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. รอบละ 30 นาที แต่ละรอบสามารถใช้บริการได้ 3 คิว (1 คิว/1 นิติบุคคล) ดังนั้น แต่ละหน่วยงานบริการจะสามารถรองรับการเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการได้ 42 คิวต่อวัน

     “การให้บริการจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบ walk-in ในช่วงนี้ อาจต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการให้ลดลงไปบ้าง เพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุดของประชาชน และเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล”นายทศพลกล่าว

     อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจดทะเบียนธุรกิจสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น กรมฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการผ่านการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration แทนการเข้ามาใช้บริการที่หน่วยงานบริการ ซึ่งจะช่วยลดการเดินทาง ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดโรคโควิด-19 สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีค่าธรรมเนียมที่ประหยัดกว่าถึง 50% ทั้งนี้ นิติบุคคลที่ยังไม่เคยเข้าใช้งานในระบบ e-Registration สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-KYC ได้ที่ www.dbd.go.th เลือก “บริการออนไลน์” และ “จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์”

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!