- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 09 January 2021 17:51
- Hits: 1783
เอฟทีเอ หนุนส่งออก 'นมและผลิตภัณฑ์' เผยอาเซียนนำโด่งตลาดสำคัญของไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเอฟทีเอช่วยหนุนส่งออก 'นมและผลิตภัณฑ์นม' ไปยังประเทศคู่เจรจาได้เพิ่มขึ้น ยอดส่งออก 11 เดือนปี 63 อาเซียนนำโด่ง ทำได้มูลค่า 488.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนกว่า 84.5% ของยอดส่งออกรวม ตามด้วยจีนและฮ่องกง หลังภาษีเป็น 0% แล้ว เตรียมลุยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอต่อ พร้อมช่วยเพิ่มช่องทางขาย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ในช่วง 11 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่าเป็นสินค้าดาวรุ่งอีกรายการหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยส่งออกได้มูลค่า 516.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% และในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย คิดเป็นมูลค่า 488.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% โดยอาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่ง มูลค่า 436.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7% คิดเป็นสัดส่วน 84.5% ของยอดส่งออกรวม ตามด้วยจีน มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.7% สัดส่วน 4.4% และฮ่องกง มูลค่า 20.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 25.3% สัดส่วน 4% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต นม UHT นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม และนม ครีมที่ไม่เติมน้ำตาล
ทั้งนี้ เฉพาะตลาดอาเซียน ส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ได้แก่ กัมพูชา มูลค่า 153.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.5% ฟิลิปปินส์ 72.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.2% สปป.ลาว 63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.2% สิงคโปร์ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.1% เวียดนาม 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 43.7% มาเลเซีย 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 14.6% อินโดนีเซีย 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 27.3% บรูไน 0.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 100% ส่วนเมียนมา 69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.6%
“ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมส่งออกได้เพิ่มขึ้น มาจากอุตสาหกรรมของไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และยังได้รับผลดีจากเอฟทีเอ ที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จากการที่ประเทศคู่เจรจาได้มีการปรับลดภาษีนำเข้าให้กับไทย”นางอรมนกล่าว
ปัจจุบันภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมทุกรายการที่ส่งออกจากไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าแล้วจาก 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ส่วนอีก 4 ประเทศ ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมให้ไทยบางส่วน แต่ยังเก็บภาษีนำเข้าในบางสินค้า เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านมที่ 21.3-25.5% โยเกิร์ต 21.3-29.8% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม ครีมจืด และโยเกิร์ตที่ 28.8% อินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมที่ 20-60% ส่วนเปรู เก็บภาษีนำเข้านม UHT และเครื่องดื่มที่มีนมผสมที่ 6% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีแผนที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทย ในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้า และการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี โดยได้ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายการส่งออกได้ด้วย FTA” เพื่อสร้างโอกาสขยายการส่งออกและขยายตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยได้เพิ่มขึ้น และยังมีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการโคนมแปรรูปของไทยกับผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ผู้แทนห้างค้าส่ง ค้าปลีก ในตลาดจีนด้วย
‘กรมเจรจาฯ’ ชี้ ความต้องการสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปเพิ่มช่วงโควิด แนะใช้ FTA ดันส่งออก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ ผลพวงจากโควิด-19 ทำความต้องการสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกเพิ่ม 6% ส่วนมากเป็นตลาดที่ไทยมี FTA อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แนะใช้ FTA เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปมากขึ้น โดยสินค้าดาวรุ่ง คือ สินค้าผักกระป๋องและแปรรูป ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 6 ของโลกรองจากสหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และตุรกี รวมทั้งมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือมกราคม-พฤศจิกายน 2563 ไทยส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปสู่ตลาดโลก มูลค่า 455 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยตลาดส่งออกสำคัญมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น มูลค่า 91.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2%) อาเซียน มูลค่า 65 ล้านเหรียญ-สหรัฐ (+18%) (ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (+27%) มาเลเซีย (+16%) และสิงคโปร์ (+58%)) สหรัฐอเมริกา มูลค่า 62.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (+17%) และเกาหลีใต้ มูลค่า 32.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27%)
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป มีสัดส่วน 44% ของการส่งออกทั้งหมด โดยไทยส่งออกมูลค่า 201.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปอื่นๆ มีการขยายตัวเช่นเดียวกัน อาทิ หน่อไม้ฝรั่งกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 15.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (+30%)ผักดองด้วยน้ำส้มสายชู มูลค่า 12.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4%) เห็ดแปรรูป มูลค่า 11.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+8%) และผักกระป๋องและผักแปรรูปอื่นๆ มูลค่า 194.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2%)
นางอรมน กล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถขยายการส่งออกและสร้างแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่ค้าโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีอยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยอาเซียน 9 ประเทศจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผักกระป๋องและผักแปรรูปจากไทยแล้ว สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีสินค้าบางรายการ เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าสินค้ามะเขือเทศแปรรูป 1-16% มันฝรั่งแปรรูป 1.1% และผักผสมแปรรูป 17% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป มันฝรั่งแปรรูป 5% และกิมจิ 16% อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปกลุ่มข้าวโพดหวาน ถั่ว มันฝรั่ง และมะเขือเทศ 30% และเปรู เก็บภาษีนำเข้าสินค้ามันฝรั่งแปรรูปและมะเขือเทศกระป๋องและแปรรูป 6%
ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกผักกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 469.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+10%) โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ มูลค่า 286.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (+14%) คิดเป็นสัดส่วน 61% ของการส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในปี 2562 กับปีก่อนที่เอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้พบว่า การส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปของไทยไปตลาดคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น 38% อาเซียน 1,757% จีน 13,525% เกาหลีใต้ 410% ออสเตรเลีย 256% และฮ่องกง 63% เป็นต้น
“จากการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปในตลาดโลก คาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงและเติบโตได้ดีในระยะยาว เพราะตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน และนิยมดูแลสุขภาพจึงบริโภคผักมากขึ้น โดยไทยมีข้อได้เปรียบด้านการเพาะปลูกพืชผักนานาชนิด และมีจุดแข็งด้านการผลิตที่มีมาตรฐานอาหารปลอดภัยตามหลักสากล จึงมีโอกาสขยายการส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปได้เพิ่มขึ้น” นางอรมน เสริม
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ