- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 20 December 2020 17:40
- Hits: 8935
กรมเจรจาฯ เผย'โปรตีนจากพืช'มาแรง ส่งออกตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอ ยอดพุ่งกระฉูด
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผย 'โปรตีนจากพืช' ทั้งโปรตีนเกษตร อาหารแปรรูปจากพืช และเต้าหู้ กำลังมาแรง ส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ยอด 10 เดือนปี 63 มูลค่า 2.37 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 104% เผยส่งออกไปตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอพุ่งแรง ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ หลังไร้ภาษีนำเข้า แนะผู้ประกอบการติดตามพฤติกรรมการบริโภค พัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด
นางมอรน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพ และให้ความสำคัญกับโภชนาการทางอาหาร ส่งผลให้สินค้าอาหารกลุ่ม “โปรตีนจากพืช” (plant-based products) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.–ต.ค.) ไทยส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนเกษตร อาหารแปรรูปจากพืชที่มีโปรตีนเข้มข้น และเต้าหู้ ได้มูลค่า 2.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 104% มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง มูลค่า 1.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 48.1% อาเซียน มูลค่า 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 19.1% จีนไทเป มูลค่า 0.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 17.1% และจีน มูลค่า 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 8.2% เป็นต้น
โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ โปรตีนเกษตรและอาหารแปรรูปจากพืชที่มีโปรตีนเข้มข้น มูลค่า 2.28 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 96.01% ของการส่งออกโปรตีนจากพืชทั้งหมด เพิ่มขึ้น 116.72% รองลงมา คือ เต้าหู้และเต้าหู้แท่ง มูลค่า 8 หมื่นเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 3.38% เพิ่มขึ้น 28.38% และเต้าหู้ถั่วเหลืองสด มูลค่า 1.44 หมื่นเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.61% ลดลง 69.47%
“แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชของไทยจะยังไม่สูงนัก แต่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย เช่น ฮ่องกง เพิ่มขึ้นสูงถึง 5,956% ญี่ปุ่น เพิ่ม 2,375% จีน เพิ่ม 868% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 666% และเกาหลีใต้ เพิ่ม 646% เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าเอฟทีเอได้มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก จากการที่คู่เจรจาได้มีการปรับลดภาษีให้กับไทย ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกไปยังตลาดที่มีเอฟทีเอ ควรที่จะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอด้วย”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ ไทยมีเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู โดยประเทศเหล่านี้ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลืออีก 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ยกเว้นภาษีนำทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเต้าหู้ เก็บภาษี 5% และญี่ปุ่น ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าโปรตีนจากพืชกลุ่มที่ไม่ผสมน้ำตาลเหลือศูนย์ แต่ยังคงเก็บภาษีสินค้าโปรตีนจากพืชกลุ่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล 16.8-21%
นางอรมนกล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยและเกษตรกรไทยควรติดตามและปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชให้หลากหลาย การพัฒนารูปลักษณ์หรือรสชาติไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ เพราะโปรตีนจากพืชมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งในแง่คุณค่าทางโภชนาการที่ให้โปรตีนและสารอาหารจำเป็นสูง แต่ให้พลังงานต่ำ ปลอดคลอเรสเตอรอล
นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางใหม่สำหรับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชที่ให้โปรตีนสูงประเภทถั่ว หรือเห็ด สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปโปรตีนจากพืชให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยจีนและอินเดียเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมาก รวมทั้งมีความนิยมรับประทานอาหารเจและมังสวิรัติ
ในปี 2562 ตลาดสินค้าโปรตีนจากพืช มีมูลค่าสูงกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ