- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 20 December 2020 16:55
- Hits: 12945
กรมเจรจาฯ เปิดโพยภาษียูเค 4 กลุ่ม หลังเบร็กซิต พบสินค้าไทยได้ประโยชน์เพียบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชำแหละนโยบายการค้าของสหราชอาณาจักร (ยูเค) หลังออกจากอียู 1 ม.ค.64 พบยืดหยุ่นกว่าของอียู เผยอัตราภาษีถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ไทยจะได้ประโยชน์ภาษีนำเข้าลดลงหลายสินค้า ประหยัดภาษีได้กว่า 737 ล้าน แถมยังยกเลิกเก็บเอดีอีก 4 รายการ ล่าสุดได้หารือยูเคตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า และจ้างที่ปรึกษาศึกษาประโยชน์จากการทำเอฟทีเอไทย-ยูเคแล้ว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามกรณีสหราชอาณาจักร (ยูเค) จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างสมบูรณ์ หรือเบร็กซิต ในวันที่ 1 ม.ค.2564 พบว่า ยูเคจะเริ่มใช้นโยบายและมาตรการทางการค้าของตนเอง โดยนโยบายการค้าของยูเคจะผ่อนคลายและยืดหยุ่นกว่าของอียู เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในยูเค รวมถึงเอื้อต่อการพัฒนาเป็น Trading Nation ของยูเคภายหลังเบร็กซิต
ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายและมาตรการทางการค้าในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ยูเคจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้านำเข้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 48% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ยังไม่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับยูเค รวมถึงไทย จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว โดยสินค้าที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าหลังเบร็กซิตทันที เช่น ผลไม้ อาหารที่จัดทำไว้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เวชภัณฑ์ เศษของโลหะมีค่า เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และวงจรพิมพ์
2.ยูเคจะลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าเหลือ 2-10% เป็นสัดส่วน 30% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณชุบโลหะ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ข้าวกล้อง และข้าวขาว
3.ยูเคยังคงเก็บภาษีนำเข้า 12-70% กับสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาสูบ สินค้าประมงแปรรูป เสื้อผ้า และผลไม้แปรรูปบางประเภท
4.ยูเคจะใช้มาตรการภาษีเฉพาะหรือกำหนดโควตานำเข้ากับสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น สัตว์ปีกมีชีวิตและแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืช น้ำตาล และแป้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินข้อมูลการค้าไทย-ยูเค ในช่วงปี 2560-2562 พบว่า จะช่วยประหยัดภาษีศุลกากรที่ผู้ส่งออกไทยต้องจ่ายให้ยูเคประมาณ 737 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ หลังจากเบร็กซิต ยูเคจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) กับสินค้าไทยที่เคยถูกเรียกเก็บเอดีจากอียูจำนวน 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวานแปรรูป ข้อต่อท่อเหล็กหล่ออบเหนียวสลักเกลียว รถลากด้วยมือ และผ้าตาข่ายใยแก้ว
ขณะเดียวกัน เบร็กซิตยังทำให้ยูเคและอียูต้องเจรจาปรับปริมาณโควตาในรายการสินค้าต่างๆ ที่เคยผูกพันโควตาภาษีไว้กับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) แบ่งเป็นโควตาที่ยูเคจะจัดสรรให้ประเทศคู่ค้า และโควตาเข้าสู่ตลาดอียู 27 ประเทศ โดยโควตาใหม่ที่ไทยได้รับไม่น้อยกว่าโควตาเดิม เช่น ไก่หมักเกลือ เนื้อไก่ปรุงสุก และเนื้อไก่แปรรูป เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าร่วม (Joint Trade Policy Review) และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) กับยูเค ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นเวทีหารือส่งเสริมความร่วมมือและแก้ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
พร้อมกันนี้ ได้มอบให้บริษัท โบลลิเกอร์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำเอฟทีเอระหว่างไทยและยูเค ตลอดจนจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอกับยูเคต่อไป โดยจะต้องรอความพร้อมของฝ่ายยูเคก่อน ซึ่งล่าสุดยูเคได้สรุปผลการเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับ 30 ประเทศคู่ค้าเดิม ที่เคยมีเอฟทีเอด้วยกันสมัยที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นต้น
นับถอยหลัง 'เบร็กซิท' กรมเจรจาฯ แนะเอกชนเตรียมพร้อม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มองนโยบายการค้ายูเคยืดหยุ่นกว่าอียูหลัง 'เบร็กซิท' เผยรัฐสภาไทยเคาะผลการเจรจาโควตาระหว่างไทยกับอียูและยูเคแล้ว คาดมีผลใช้บังคับต้นปีหน้า เชื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการส่งออกไปยูเคและอียู ย้ำ! ภาคธุรกิจไทยต้องติดตามนโยบายการค้าของยูเคอย่างใกล้ชิด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ กรณีสหราชอาณาจักร (ยูเค) จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างสมบูรณ์ หรือ ‘เบร็กซิท’ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และยูเคจะเริ่มใช้นโยบายและมาตรการทางการค้าของตนเอง ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่านโยบายการค้าของยูเคภายหลังเบร็กซิทจะผ่อนคลายและยืดหยุ่นกว่าของอียู เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในยูเค รวมถึงเอื้อต่อการพัฒนาเป็น “trading nation” ของยูเคภายหลังเบร็กซิท
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับนโยบายและมาตรการทางการค้าสำคัญของยูเค ที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยภายหลังเบร็กซิท คือ 1) ยูเคจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้านำเข้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 48% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ยังไม่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับยูเค รวมถึงไทยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว โดยสินค้าที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าหลังเบร็กซิททันที อาทิ ผลไม้ อาหารที่จัดทำไว้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เวชภัณฑ์ เศษของโลหะมีค่า เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และวงจรพิมพ์ 2) ยูเคจะลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าเหลือ 2-10% เป็นสัดส่วน 30% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณชุบโลหะ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ข้าวกล้อง และข้าวขาว 3) ยูเคยังคงเก็บภาษีนำเข้า 12-70% กับสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาสูบ สินค้าประมงแปรรูป เสื้อผ้า และผลไม้แปรรูปบางประเภท และ 4) ยูเคจะใช้มาตรการภาษีเฉพาะหรือกำหนดโควตานำเข้า กับสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ สัตว์ปีกมีชีวิตและแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืช น้ำตาล และแป้ง
ทั้งนี้ เมื่อประเมินข้อมูลการค้าไทย-ยูเค ในช่วงปี 2560-2562 พบว่า จะช่วยประหยัดภาษีศุลกากรที่ผู้ส่งออกไทยต้องจ่ายให้ยูเคประมาณ 737 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยูเคจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าไทยที่เคยถูกเรียกเก็บ AD จากอียู 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวานแปรรูป ข้อต่อท่อเหล็กหล่ออบเหนียวสลักเกลียว รถลากด้วยมือ และผ้าตาข่ายใยแก้ว
นางอรมน เพิ่มเติมว่า เบร็กซิทยังทำให้ยูเคและอียูต้องเจรจาปรับปริมาณโควตาในรายการสินค้าต่างๆ ที่เคยผูกพันโควตาภาษีไว้กับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งภายหลังเบร็กซิทโควตาเหล่านี้จะแยกเป็นสองกลุ่ม คือ 1) โควตาที่ยูเคจะจัดสรรให้ประเทศคู่ค้า และ 2) โควตาเข้าสู่ตลาดอียู 27 ประเทศ โดยล่าสุดไทยสามารถสรุปผลการเจรจาจัดสรรโควตากับยูเคและกับอียูได้แล้ว ซึ่งโควตาใหม่ที่ไทยได้รับจากยูเคและอียู เมื่อรวมกันแล้วจะไม่น้อยกว่าปริมาณโควตาเดิมที่ไทยเคยได้รับจากอียู จากปริมาณโควตาที่ปรับใหม่ทำให้ทราบถึงปริมาณการส่งออกจากไทยไปยูเคและอียูที่แท้จริง เช่น ไก่หมักเกลือ เนื้อไก่ปรุงสุก และเนื้อไก่แปรรูป เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 รัฐสภาไทยได้เห็นชอบผลการเจรจาโควตาระหว่างไทยกับอียูและกับยูเคแล้ว และคาดว่าปริมาณโควตาใหม่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจและสามารถวางแผนธุรกิจและการส่งออกไปยูเคและอียู
นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าร่วม (Joint Trade Policy Review) และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) กับยูเค ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นเวทีหารือส่งเสริมความร่วมมือและแก้ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังได้มอบให้บริษัท โบลลิเกอร์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำ FTA ระหว่างไทยและยูเค ตลอดจนจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอกับยูเคต่อไป โดยจะต้องรอความพร้อมของฝ่ายยูเคเช่นกัน ซึ่งล่าสุดยูเคได้สรุปผลการเจรจาจัดทำ FTA กับ 30 ประเทศคู่ค้าเดิม ที่เคยมี FTA ด้วยกันสมัยที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นต้น
“ภาคธุรกิจของไทยควรติดตามพัฒนาการด้านนโยบายการค้าของยูเคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าของยูเคกับอียู เนื่องจากหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ทันสิ้นปีนี้ ทั้งสองฝ่ายอาจจะดำเนินการค้าระหว่างกันภายใต้กฎระเบียบ WTO คือ มีการกำหนดภาษีและข้อจำกัดทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูเคและอียู ที่มีความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตที่ใกล้ชิด และการพึ่งพิงการค้าระหว่างกันในระดับสูง” นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเคอยู่ที่ 6,264.61 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.30% ของการค้าทั้งหมดของไทย สำหรับในเดือน ม.ค. - ต.ค. 2563 การค้าระหว่างสองฝ่ายมีมูลค่า 4,103.98 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 2,578.26 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเคมูลค่า 1,525.72 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น
ผู้ประกอบการไทยสามารถตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าใหม่ของยูเคได้ที่ https://www.check-future-uk-trade-tariffs.service.gov.uk/tariff
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ