- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 11 December 2020 20:30
- Hits: 15927
กรมเจรจาฯ นำอัตราภาษี RCEP ขึ้นเว็บ ชวนผู้ประกอบการศึกษาวางแผนส่งออก-นำเข้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำอัตราภาษีศุลกากรที่สมาชิก RCEP 15 ประเทศลดให้ระหว่างกัน ลงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์แล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกและนำเข้าสามารถศึกษา และวางแผนการใช้ประโยชน์ก่อนที่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ เผยมีสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียบ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และนำความตกลง RCEP ฉบับสมบูรณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dtn.go.th เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ที่ต้องการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP สามารถสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรในแต่ละรายการสินค้าที่สมาชิก RCEP จัดเก็บระหว่างกัน และวางแผนการใช้ประโยชน์ในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากสมาชิก RCEP ก่อนที่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ในการสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศสมาชิก RCEP เก็บระหว่างกัน แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีการนำสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP เข้ามาไทย ส่วนใหญ่อัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสมาชิก RCEP จะเหมือนกัน ยกเว้นบางรายการสินค้าที่ไทยระบุไว้ว่าไม่ผูกพันลดภาษีให้กับประเทศใด ซึ่งในกรณีนี้ ไทยจะเก็บภาษีในอัตราทั่วไป เท่ากับที่เก็บกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
2.กรณีการส่งออกสินค้าจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP เช่น จีนและเกาหลีใต้ได้จัดทำตารางข้อผูกพันภาษีศุลกากรสำหรับที่ลดให้กับอาเซียน และที่ลดให้กับประเทศสมาชิก RCEP อื่นที่ไม่ใช่อาเซียน โดยสามารถตรวจสอบอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศจัดเก็บกับสินค้าจากไทยในแต่ละปีได้ ในส่วนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ผูกพันที่จะลด ยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสมาชิก RCEP เหมือนกัน จึงมีตารางข้อผูกพันทางภาษีตารางเดียว สำหรับญี่ปุ่น แม้จะได้จัดทำตารางข้อผูกพันทางภาษีชุดเดียว แต่ในบางรายการสินค้า ญี่ปุ่นได้ลดภาษีที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิก RCEP จึงได้มีการระบุอัตราภาษีที่แตกต่างกันในระหว่างสมาชิกไว้
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับทุกประเทศสมาชิก RCEP แยกออกจากกรอบอาเซียน แต่ความตกลง RCEP ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ โดยเฉพาะโอกาสเข้าสู่ตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าจากไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น จีน ได้ประโยชน์สินค้าพริกไทย สับปะรดกระป๋อง น้ำสัปปะรด น้ำมะพร้าว ญี่ปุ่น เช่น ผักแปรรูป (มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง) แป้งสาคู ผลไม้สด แห้ง แช่แข็ง (ส้ม สับปะรด) น้ำมันถั่วเหลือง สินค้าประมง น้ำส้ม น้ำผลไม้ผสม และเกาหลีใต้ เช่น ผลไม้สดหรือแห้ง (มังคุด ทุเรียน) ข้าวโพดหวานแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันรำข้าว สับปะรดแปรรูป น้ำสับปะรด และสินค้าประมง
นอกจากนี้ การที่ความตกลง RCEP กำหนดให้สมาชิกใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันทั้ง 15 ประเทศ จากเดิมที่กฎถิ่นกำเนิดสินค้าจะแตกต่างกันไปตาม FTA ซึ่งช่วยให้การสะสมถิ่นกำเนิดทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยสู่ห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคมากขึ้น และกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ยังมีความยืดหยุ่นขึ้น จึงเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ผลิตไทยสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายทั้งจากในและนอกภูมิภาค RCEP เช่น ในอาหารปรุงแต่ง (พิกัด 16) สามารถใช้แหล่งวัตถุดิบจากในและนอกประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งง่ายกว่าความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดแหล่งวัตถุดิบต้องมาจากประเทศภาคีของความตกลงเท่านั้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ