- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 December 2020 10:39
- Hits: 13789
'จุรินทร์'แจ้งข่าวดีชาวสวนยาง ชงครม.เคาะบัตรสีชมพูได้ส่วนต่าง จ่ายงวดแรก 11 ธ.ค.นี้
'จุรินทร์'แจ้งข่าวเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ถือบัตรสีชมพู จะได้รับเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ หลังเตรียมเสนอ ครม. พิจารณา ส่วนการจ่ายเงินงวดแรก ดีเดย์ 11 ธ.ค.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการติดตามสถานการณ์ราคายางพารา และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่สถาบันการเงินชุมชนบ้านวังไทร ต.เขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ว่า ขอแจ้งเรื่องสำคัญที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องทราบ คือ ผู้ที่เป็นชาวสวนยาง ถือบัตรสีชมพู ที่ไม่ได้ถือบัตรสีเขียว จะได้รับเงินส่วนต่างหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ตนได้ลงนามเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันอังคาร หากที่ประชุมเห็นชอบ ก็สามารถจ่ายส่วนต่างได้เช่นเดียวกับปีที่แล้ว
ส่วนการจ่ายเงินส่วนต่างเมื่อใด เรื่องนี้ขอแจ้งข่าวดีให้กับเกษตรกรชาวสวนยางว่าเงินส่วนต่างงวดแรก หากไม่มีอะไรผิดพลาด หรือเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ ก็จะได้เริ่มจ่ายส่วนต่างครั้งแรกวันที่ 11 ธ.ค.2563 และถัดจากนั้นจะจ่ายต่อไปทุกเดือนเป็นเวลา 6 เดือน จนกว่าจะหมดฤดูการกรีดสำหรับปีนี้ สำหรับปีหน้าก็ว่ากันใหม่
นอกจากนี้ ปัจจุบันราคายาง และราคาปาล์มในภาคใต้ ได้กระเตื้องดีขึ้นมาก รวมทั้งภาคอื่นที่ปลูกด้วย โดยยางพารา ขณะนี้ราคาไม่ได้ทรงอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 40 บาทเหมือนปีที่แล้ว เพราะว่าอย่างน้อยยางแผ่นดิบมาตรฐานชั้น 3 ราคาขึ้นมา กก.ละ 60 กว่าบาท ยางแผ่นรมควัน ราคา FOB ก็ขึ้นไปถึง 70 กว่าบาทแล้ว ขณะเดียวกันน้ำยางข้นก็ขึ้นไป กก. ละ 55-57 บาท ยางก้อนถ้วยก็ขึ้นไป กก. ละ 20-23 บาท แล้วแต่วันแล้วแต่กรณี ส่วนปาล์ม ประกันรายได้ที่ กก.ละ 4 บาท ปรากฏว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ราคาปาล์มทะลุ 4 บาทไปแล้ว ขณะนี้อยู่ที่ กก. ละ 6-7 บาท ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางและชาวสวนปาล์ม
มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เริ่มบรรเทาลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางสาขาเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุสำคัญมาจากสถาบันการเงินยังไม่มั่นใจการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมองว่าผู้ประกอบการดังกล่าวยังมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) วงเงินโครงการ 150,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อเป็นไปตามที่ บสย. กำหนด โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ปีละไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 42,500 ราย
2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 500,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการรายย่อยปีละไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย
กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีสภาพคล่องที่เพียงพอและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป
สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3235 โทรสาร 02 618 3374
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ