- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 28 November 2020 10:20
- Hits: 7948
คลอดไกด์ไลน์ คุมจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ป้องโรงแรม-ร้านอาหาร-สถานบันเทิงโดนโขก
กรมทรัพย์สินทางปัญญาคลอดไกด์ไลน์คุมการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง หลังที่ผ่านมา พบปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้เก็บกับผู้ใช้ ทั้งร้านอาหาร โรมแรม สถานบันเทิงอย่างต่อเนื่อง กำหนดให้องค์กรจัดเก็บต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทน ให้เน้นเจรจาก่อนบังคับใช้สิทธิ์ พร้อมย้ำเจ้าของลิขสิทธิ์ 36 ราย เพลง 9,870,973 ล้านเพลง ต้องแจ้งรายชื่อ อัตราจัดเก็บ เงื่อนไขการจัดเก็บ ให้กกร. ทราบ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง โดยได้นำแนวทางของประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) มาเป็นต้นแบบเสร็จเรียบร้อย และแจ้งให้หน่วยงานจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงดำเนินการใช้แล้ว เพื่อให้สามารถนำหลักปฏิบัติไปใช้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้อย่างถูกต้อง และลดข้อพิพาทระหว่างผู้เก็บกับผู้ใช้ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สถานบันเทิง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลการบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เอาไว้ชัด ทำให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในไทยเกิดปัญหา เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ละรายจะกำหนดค่าลิขสิทธิ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้เอง ซึ่งแต่ละแห่งก็ใช้แนวทางไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงมาโดยตลอด
“เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงไปใช้ได้อย่างถูกต้อง กรมฯ จึงได้จัดประชุมให้ความรู้แก่ผู้แทนบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ และสมาคมที่เกี่ยวข้อง กว่า 80 คน เพื่อให้สามารถบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ถูกต้อง”นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับ หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง กำหนดให้องค์กรจัดเก็บต้องปฏิบัติต่อสมาชิกด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลสมาชิก ห้ามรับเจ้าของสิทธิ์ที่เป็นสมาชิกขององค์กรจัดเก็บอื่นหรือที่โอนสิทธิ์ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว เปิดเผยหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน เป็นต้น และต้องแจ้งข้อมูลต่อผู้ใช้งาน เช่น เปิดเผยอัตราค่าตอบแทน กำหนดค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม คิดค่าตอบแทนร้านที่มีขนาดเท่ากันในอัตราเดียวกัน หากพบเห็นการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต ควรเจรจาให้ให้ขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนบังคับใช้สิทธิ์
ส่วนบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงจะต้องดำเนินการ คือ ต้องแจ้งข้อมูลการจัดเก็บต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กรมการค้าภายใน โดยมีข้อมูลที่จะต้องแจ้ง ได้แก่ รายชื่อเพลง อัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เงื่อนไขการจัดเก็บ แต่อัตราการจัดเก็บ ไม่ได้มีกฎหมายควบคุม ซึ่งบริษัทสามารถกำหนดได้เอง และการจัดเก็บค่าตอบแทนจะต้องจัดเก็บตามอัตราที่แจ้งไว้กับ กกร. หากจัดเก็บค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามที่แจ้งต่อ กกร. สามารถร้องเรียนได้ที่ กกร.
ปัจจุบันมีบริษัทที่แจ้งจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อ กกร. มีจำนวนทั้งสิ้น 39 ราย โดยมีเพลงไทยจำนวน 262,420 เพลง และเพลงสากล 9,608,553 เพลง
อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่าหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงที่นำออกมาใช้ จะเป็นแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาระบบการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย โดยจะช่วยให้การบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นธรรม เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของประเทศ ตลอดจนได้รับการยอมรับจากเจ้าของสิทธิ ผู้ใช้งาน และสาธารณชนโดยรวม
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ