- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 28 November 2020 07:51
- Hits: 2833
ส่งออกต.ค.ดีกว่าที่คาด ลบ 6.71% ได้อานิสงค์การค้าโลกฟื้น คาดทั้งปีหดตัวแค่ 7%
ส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง เดือนต.ค.ทำได้มูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.71% ดีกว่าที่คาดไว้ เผยปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การขนส่งกลับเข้าสู่ปกติ การสั่งซื้อสินค้าดีขึ้น ได้รับผลดีจากมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ และสินค้าดาวรุ่งยังส่งออกได้ดี ทั้งอาหาร สินค้าเกี่ยวเนื่องทำงานที่บ้าน และสินค้าป้องกันติดเชื้อ ขณะที่ตลาดส่งออกเริ่มฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนส่งออกทั้งปี 63 คาดติดลบ 7% แต่มีลุ้นลบน้อยกว่านี้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.71% ทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ และยังเห็นสัญญาณดี เพราะการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าที่เป็นภาคการผลิตจริง ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,330.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.32% เกินดุลการค้า 2,046.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดรวมการส่งออก 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 192,372.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.26% การนำเข้ามีมูลค่า 169,702.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.61% โดยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 22,670.21 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกมีการฟื้นตัวดีขึ้น จากที่เคยติดลบหนักสุดในเดือนมิ.ย.ที่ลดลงสูงถึง 23.17% พอมาเดือนก.ค.ติดลบ 11.37% ส.ค.ติดลบ 7.94% ก.ย.ติดลบ 3.86%
สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เพราะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลายประเทศผ่อนคลายการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้รับผลดีจากการส่งออกกลุ่มที่มีศักยภาพ คือ สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อราคายางพาราของไทยในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายตัวยังส่งออกได้ลดลง โดยเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลด 8.8% เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 4.7% เช่น ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ทางด้านตลาดส่งออก หลายๆ มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มูลค่าส่งออกปรับตัวดีขึ้นในหลายตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่ม 4.8% เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 17% บวกต่อเนื่อง 4 เดือนติด สหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ ลดเหลือ 0.4% มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องระวังเรื่องการล็อกดาวน์ ญี่ปุ่น ลด 5.3% ตลาดศักยภาพสูง ลด 13.5% โดยจีน ลด 6.1% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 27.2% CLMV ลด 17% ซึ่ง CLMV ยังน่าห่วง จากโควิด-19 ระบาดในเมียนมา เอเชียใต้ เพิ่ม 15.6% โดยอินเดีย เพิ่ม 13.7% บวกเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 2.8% โดยตะวันออกกลาง ลด 18.1% ทวีปแอฟริกา ลด 16.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 2% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 4.2% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 12.9%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,329 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 7% แต่ถ้าส่งออกได้เกินเดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกก็จะติดลบน้อยกว่า 7% โดยการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 จากสถานการณ์การค้าโลกจะดีขึ้น หลังจากที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีความผันผวนน้อยลง การมีวัคซีนโควิด-19 แต่คงต้องใช้เวลาอีก และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะส่งผลให้การค้าในเอเชียดีขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยง เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ทำให้คู่ค้าหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ การค้าชายแดนกับ CLMV ที่ยังมีการชะลอตัวจากโควิด-19 การขาดแคลนตู้สินค้า ที่ขณะนี้พบว่าไปรออยู่ที่จีนเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวน และราคาน้ำมัน ที่แม้จะฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิม ทำให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนตุลาคม 2563
การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากประเทศต่าง ๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้ากระเตื้องขึ้น สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ
โดยเฉพาะในตลาด สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันหลายตลาดกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายเดือน ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนตุลาคม 2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.71 สำหรับภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรก (มกราคม–ตุลาคม) มีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.26
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อราคายางพาราของไทยในช่วงนี้
ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะอินเดีย เนเธอร์แลนด์ และเม็กซิโก รวมทั้งตลาดอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ล้วนมีอัตราการหดตัวที่ลดลงมากในเดือนนี้ เช่น ฮ่องกง เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ในขณะที่การค้าชายแดนของไทยโดยเฉพาะประเทศใน CLMV ยังคงได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนตุลาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.71 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 17,330.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.32 การค้าเกินดุล 2,046.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.26 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 169,702.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.61 ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 22,670.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนตุลาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 600,335.92 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.51 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 544,197.91 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 12.37 การค้าเกินดุล 56,138.01 ล้านบาท ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 5,987,376.14 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.38 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 5,350,086.03 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 14.87 ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 637,290.11 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 8.8 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 183.0 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย จีน ลาว และมาลาวี) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 17.4 ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย) ยางพารา กลับมาขยายตัวร้อยละ 13.1 หลังจากหดตัว 7 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สเปน และอิตาลี) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 10.6 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์) ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 75.0 หดตัว 7 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ กัมพูชา จีน ไต้หวัน แต่ขยายตัวดีในเวียดนาม ญี่ปุ่น และปาปัวนิวกินี) ข้าว หดตัวร้อยละ 20.1 หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐฯ อังโกลา และจีน
แต่ขยายตัวดีในเบนิน ฮ่องกง แคนาดา กานา และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 12.4 หลังจากขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ แต่ขยายตัวดีในมาเลเซีย และเวียดนาม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กลับมาหดตัวร้อยละ 3.0 หลังจากขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดิอาระเบีย แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เยเมน จีน ชิลี และกัมพูชา) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 1.5 หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ แต่ขยายตัวดีในจีน มาเลเซีย ฮ่องกง และแคนาดา) ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 13.6
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.7 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 25.7 ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง จีน เม็กซิโก ไต้หวัน สิงคโปร์ บราซิล และเกาหลีใต้) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 19.5 ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และอาร์เจนตินา) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 17.6 ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.2 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี เม็กซิโก และเกาหลีใต้) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.8 หลังจากหดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ ไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 27.1 หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี แต่ขยายตัวดีในสิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 19.8 หดตัว 22 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และลาว แต่ขยายตัวดีในญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐฯ) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 13.2 หดตัว 9 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา แต่ขยายตัวดีในออสเตรเลีย ลาว และฮ่องกง) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.6 หดตัว 13 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวดีในญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ และเม็กซิโก) ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.0
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญอยู่ยังในทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มูลค่าการส่งออกในหลายตลาดปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน และหลายตลาดกลับมาขยายตัวในระดับสูง
ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 4.8 ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 17.0 สหภาพยุโรป (15) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาก โดยหดตัวร้อยละ 0.4 ขณะที่ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 5.3 2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 13.5 โดยการส่งออกไปตลาดจีน อาเซียน (5) และ CLMV หดตัวร้อยละ 6.1 ร้อยละ 27.2 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ ขณะที่เอเชียใต้กลับมาขยายตัวร้อยละ 15.6 และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 2.8 โดยตลาดตะวันออกกลาง (15) ทวีปแอฟริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 18.1 ร้อยละ 16.7 และร้อยละ 2.0 ขณะที่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 4.2 และลาตินอเมริกากลับมาขยายตัวร้อยละ 12.9
ตลาดสหรัฐอเมริกา
ขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 17.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 8.3
ตลาดจีน
หดตัวร้อยละ 6.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 2.7
ตลาดญี่ปุ่น
หดตัวร้อยละ 5.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก และเหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 9.7
ตลาดสหภาพยุโรป (15)
หดตัวร้อยละ 0.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และหม้อแปลงไฟฟ้าฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 14.3
ตลาดอาเซียน (5)
หดตัวร้อยละ 27.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 12.9
ตลาด CLMV
หดตัวร้อยละ 17.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เครื่องยนต์สันดาปฯ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.5
ตลาดเอเชียใต้
กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ร้อยละ 15.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 28.4
ตลาดอินเดีย
กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ร้อยละ 13.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 30.5
ตลาดลาตินอเมริกา
กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ร้อยละ 12.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลแปรรูปฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 22.3
ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25)
ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และปูนซิเมนต์ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.9
ตลาดตะวันออกกลาง (15)
หดตัวร้อยละ 18.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 15.0
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS
หดตัวร้อยละ 2.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลแปรรูปฯ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่รถยนต์และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 26.1
ตลาดทวีปแอฟริกา
หดตัวร้อยละ 16.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแปรรูปฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และเคหะสิ่งทอ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 23.6
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 - 2564
การส่งออกของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลายสินค้ามีศักยภาพในการขยายตัวแม้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ทราบถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์การค้าโลกมีความผันผวนน้อยลง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขยายตัวในขณะนี้เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ขยายตัวดีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นสินค้าศักยภาพท่ามกลางโควิด-19 อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่เมื่อโลกสามารถผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จ ความต้องการสินค้าเหล่านี้อาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในระยะถัดไป จำเป็นต้องขยายตลาดในสินค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง
การส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีมติร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.พาณิชย์) แบ่งเป็น 3 หมวด คือ การเร่งรัดการส่งออก การค้าชายแดน และยุทธศาสตร์การเจรจาข้อตกลงทางการค้าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงประเด็นย่อย อาทิ การเร่งรัดการส่งออกข้าวที่เหลืออีก 3 แสนตันตาม MOU ที่ทำกับจีน การแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า การแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่มีอัตราสูง รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าอาหารของไทยว่าปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ