- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 27 November 2020 22:16
- Hits: 7141
ส่งออกอุปกรณ์แพทย์รุ่ง ได้แรงหนุนมาตรการสู้โควิด-19 WTO เปิดตลาด ลดภาษีเอฟทีเอ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงของอาเซียนที่จะไม่กีดกันสินค้ายาและอุปกรณ์การแพทย์เพื่อสู้โควิด-19 เร่งผลักดันการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมให้หาโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลัง WTO จับมือ WHO เรียกร้องสมาชิกเปิดตลาด และใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อ ย้ำต้องเข้มคุณภาพ เพิ่มกำลังการผลิต รองรับความต้องการที่สูงขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายเร่งหามาตรการเพื่อบรรเทาและหยุดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงนาม 'บันทึกความเข้าใจของอาเซียนว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19' เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลให้การค้าสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ต่อสู้โควิด-19 ครอบคลุมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างสมาชิกอาเซียนมีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยจะหลีกเลี่ยงการออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าเป็นเวลา 2 ปี
ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ยังได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้สมาชิก WTO 164 ประเทศ พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งลดการใช้มาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต โดยปัจจุบัน สมาชิก WTO เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องมือทางการแพทย์ในอัตราภาษีเฉลี่ย 3.4%
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียน และภายใต้ WTO เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เพิ่มขึ้น แต่จะต้องเร่งยกระดับการพัฒนาสินค้า และปรับแผนกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
อย่างไรก็ตาม กรณีการส่งออกไปยังประเทศไทยที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู อย่าลืมใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เพราะปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว ส่งผลให้สินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยได้เปรียบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง
สำหรับ ในช่วง 9 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 551 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น มูลค่า 168 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8% สหรัฐฯ มูลค่า 122 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11% สหภาพยุโรป (เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี) มูลค่า 116 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9% มาเลเซีย มูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 28% ออสเตรเลีย มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 24% เมียนมา มูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11% เป็นต้น
โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เข็มและหลอดฉีดหรือสวน อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทันตกรรมอื่นๆ เข็มฉีดยาหรือเข็มเย็บแผลทำด้วยโลหะ โดยเข็มฉีดยาและเข็มเย็บแผลที่ทำจากโลหะถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูงเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และไทยนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่ารวม 784 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศัลยกรรม ทันตกรรม และอวัยวะเทียม เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ