- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 16 November 2020 18:19
- Hits: 8816
พาณิชย์บุรีรัมย์ ผลักดันชาวนาเก็บข้าวยุ้งฉาง ชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ป้องราคาตก
พาณิชย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด ทำแผนรับมือราคาข้าว หลังผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด เตรียมผลักดันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลินำข้าวเก็บในยุ้งฉาง เผยจะได้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ตันละ 11,000 บาท และค่าฝากเก็บอีกตันละ 1,500 บาท เพื่อชะลอการขายข้าว
นายปรารภ ลิไธสง พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมประชุมกับนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาข้าวปีการผลิต 2563/64 และร่วมกันหาแนวทางและมาตรการเตรียมการป้องกันปัญหาราคาข้าวที่มีแนวโน้มตกต่ำ หลังจากที่ผลผลิตข้าวนาปีได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาด โดยผลผลิตข้าวนาปีของจังหวัดบุรีรัมย์คาดว่าจะมีปริมาณ 1,089,629 ตัน ร้อยละ 90 เป็นข้าวหอมมะลิ และร้อยละ 10 เป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกไว้เพื่อการบริโภค
ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยข้าวเปลือก กข.15 ได้เริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2563 และจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพ.ย.2563 ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือนธ.ค.2563
“ขณะนี้โรงสีในจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่งเปิดรับซื้อข้าวเปลือก โดยจังหวัดบุรีรัมย์ มีโรงสีทั้งสิ้น 22 ราย กำลังการผลิต 3,493 ตันต่อวัน กำลังการอบลดความชื้น ประมาณ 5,000 ตันต่อวัน ท่าข้าว 83 ราย หากเกษตรกรนำผลผลิตออกมาจำหน่ายมากจนเกินไป อาจทำให้เกินกำลังการรับซื้อและทำให้ราคาลดลงได้อีก ซึ่งสำนักงานฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชะลอการขายข้าวตามโครงการที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้อนุมัติมาแล้ว”นายปรารภกล่าว
นายปรารภ กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สามารถที่จะเก็บข้าวเปลือกภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตันละ 11,000 บาท และยังได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท สำหรับเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเอง แต่ถ้าเป็นสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเข้าฝากเก็บ จะได้ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้ 500 บาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมที่จะนำมาใช้ในการผลักดันราคาข้าวเปลือกให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ