- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 11 November 2020 22:46
- Hits: 6458
จุรินทร์ ประเมิน'ไบเดน'เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลการค้า-เศรษฐกิจโลกดีขึ้น
จุรินทร์ ประเมิน ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้บรรยากาศการค้าและเศรษฐกิจโลกดีขึ้น เผยไทยรับอานิสงส์เต็มๆ จับตาสหรัฐฯ จะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ยันถ้าไทยจะเข้าร่วม ต้องปรับปรุงตัวเองให้พร้อมก่อน โดยเฉพาะประเด็นข้อกังวล พร้อมเดินหน้าจับมือเอกชนทำงานใกล้ชิด เพื่อผลักดันการส่งออก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า จากการติดตามนโยบายของนายไบเดนมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า นโยบายมีความแตกต่างกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในบางเรื่อง โดยคาดว่านายไบเดนจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ สหรัฐฯ จะกลับเข้ามาเจรจาความตกลงที่ก้าวหน้าและครอบคลุมทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่ หรือสหรัฐฯ อาจทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ มากขึ้น รวมถึงอาจนำเอาเงื่อนไข เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา เข้าเป็นเงื่อนไขทางการค้า และนำมาเจรจาต่อรองทางการค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ในเรื่องการเข้าร่วม CPTPP คณะอนุกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้มีข้อสรุปไปแล้วว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมปรับปรุง แก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวล ทั้งเรื่องการคุ้มครองพันธ์พืช สิทธิบัตรยา ให้มีความพร้อมก่อน ซึ่งได้ให้ความเห็นไปแล้วว่าไทยต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ส่วนประเด็นแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่กังวล เพราะผู้ผลิตสินค้าไทยปรับตัว โดยผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่สหรัฐฯกำหนดได้อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องที่จะยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่านายไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่อาจผ่อนปรนมากขึ้น , นโยบายอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก และน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ , การใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้า หรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) หรือการใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) และการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น
“นโยบายการค้าของนายไบเดนที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะทำให้บรรยากาศการค้าของโลกดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออก และเศรษฐกิจไทยดีขึ้นตาม โดยเฉพาะการทำสงครามการค้ากับจีน ที่จะผ่อนปรนมากขึ้นนั้น อาจทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จีนต้องนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย หรือไทยอาจจะใช้เวทีการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี เพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น”นายจุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดต่อไปในรูปแบบ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย จะร่วมมือกับอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็นอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น โดยเฉพาะการนำสินค้าไทยเข้าไปในขายในแพลตฟอร์มสำคัญของสหรัฐฯ เช่น Amazon
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายการค้าของสหรัฐฯ กรณีที่นายไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี จะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันท์มิตรกับสหรัฐฯ ได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเอฟทีเอใหม่ ที่มีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย ส่วนสงครามการค้าจะยังอยู่ แต่ไทยมีโอกาสส่งสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ อีกทั้งไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนประเด็นที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้นนั้น จะทำให้กลไกของ WTO เดินหน้าต่อได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย ขณะที่การทบทวน GSP ที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาทบทวนการคืนสิทธิ
พาณิชย์ ไม่หวั่นนโยบายโจ ไบเดน! จุรินทร์ สั่งลุยรับมือ'อเมริกา' เชื่อสัญญาณดีกว่า ทิศทางส่งออกเป็นบวกมากขึ้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงถึงยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ รองรับหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยนายจุรินทร์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามมาโดยตลอดร่วมกับภาคเอกชน เพราะมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา (2562) สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจาก อาเซียน จีน และญี่ปุ่น และในปี 2563 มูลค่าการค้าไทยสหรัฐเดือนมกราคมถึงกันยายน มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ดังนั้นจากลำดับที่ 4 มาเป็นลำดับที่ 2 รองจากอาเซียน ส่วนตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐฯเดือนมกราคมถึงกันยายน รวม9เดือนแรกของปี มีมูลค่าการค้า 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เป็นบวกร้อยละ 7.4 เฉพาะเดือนกันยายนปี 2563 เป็นบวกถึงร้อยละ 19.7 โดยมีสินค้า 4 กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็คทรอนิกส์ อาหาร เครื่องตกแต่งบ้านของใช้ในบ้าน อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อผลการเลือกตั้งเป็น "โจ ไบเดน"นั้น เราคาดว่า เรื่องที่ยังคงอยู่ คือ 1.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่อาจผ่อนปรนลง 2.เรื่องอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก 3.คาดว่าการใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้าหรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐน่าจะยังคงอยู่ เช่น GSP หรือการจัดการกับการทุ่มตลาด และเซฟการ์ด แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า คาดว่า "โจ ไบเดน" จะมีความแตกต่างจากช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ คือ 1.คาดว่าสหรัฐจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น ผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)มากขึ้น และที่ต้องจับตาการกลับมาใช้ CPTPP โดยอาจเพิ่มการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น FTA กับประเทศต่างๆ และเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน มาเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเจรจาทางการค้ามากขึ้นในภาพรวมคิดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของการค้าโลก ที่ผ่อนปรนขึ้นซึ่ง ประเทศไทยจะมีผลในทางบวกร่วมกันด้วย ซึ่งวันนี้คาดการณ์ว่าวัตถุดิบที่ไทยจะส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอาจจะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น หากสงครามการค้าผ่อนคลายลงไทยก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ด้วย หรือประเทศไทยอาจจะใช้วิธีพหุภาคีเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น
"โดยตนให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดต่อไปในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ให้ร่วมมือกับอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ให้ความสำคัญแพลตฟอร์มของสหรัฐเช่น Amazon โดยต้องเปิดห้องหรือร้านในนั้นมากขึ้น " นายจุรินทร์ กล่าว
รายงานของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐจะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันมิตรกับสหรัฐได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเวทีการเจรจา FTA ใหม่ๆที่มีสหรัฐฯร่วมอยู่ด้วย เรื่องสงครามการค้าจะยังอยู่แต่ไทยยังมีโอกาสส่งสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯและสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนได้ และไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนประเด็นการปฏิรูป WTO โดยสหรัฐจะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้กลไก WTO เดินหน้าต่อได้ ทั้งการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ และการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย และการทบทวนสิทธิ GSP ที่สหรัฐจะให้ความสำคัญกับมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาทบทวนการคืนสิทธิ GSP ให้ไทยด้วย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ