- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 07 November 2020 23:27
- Hits: 15050
จุรินทร์ ยันไม่เปิดตลาดนำเข้าหมูมีสารเร่งเนื้อแดง ชี้กรณีถูกตัด GSP มีแผนรับมือไว้แล้ว
จุรินทร์ ยันไม่มีนโยบายเปิดให้นำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ แม้จะถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว 231 รายการ เหตุต้องคำนึงถึงคนไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศ และตัดสินใจหน่วยงานเดียวไม่ได้ พร้อมย้ำถูกตัด GSP ครั้งล่าสุด ระทบแค่ 147 รายการ มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 600 ล้านบาท แต่ไม่น่ากังวล เหตุมีการเตรียมรับมือล่วงหน้า ทั้งการแข่งเรื่องคุณภาพ และหาตลาดใหม่เพิ่ม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับสินค้าไทย 231 รายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2563 เพราะไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนตกค้างจากสหรัฐฯ ว่า ไทยยังไม่มีนโยบายเปิดตลาดนำเข้าสินค้าดังกล่าว เพราะต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนในประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศ ที่มีจำนวนมาก และเรื่องการเปิดตลาดนำเข้า ต้องคุยกันหลายกระทรวง ไม่เฉพาะกระทรวงพาณิชย์ เพราะเกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียวคงไม่สามารถพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ได้ แต่ขณะนี้ ยืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายเปิดตลาดนำเข้าแน่นอน
สำหรับ ประเด็นที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เปิดโอกาสให้ไทยหารือ และชี้แจงกรณีการตัดสิทธิ GSP นั้น ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประสานงาน แต่ที่ผ่านมา ไทยได้ทำงานร่วมกับ USTR มาโดยตลอดอยู่แล้ว
นายจุรินทร์กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ตัด GSP สินค้าไทย 231 รายการ ยังมีบางท่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดว่ามูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 2-3 หมื่นล้าน ความจริงแล้วไม่ใช่ ข้อเท็จจริง คือว่า การที่สหรัฐฯ ตัด GSP ครั้งล่าสุด จะกระทบสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวน 147 รายการเท่านั้น หมายความว่าต่อไปนี้เวลาไทยส่งสินค้า 147 รายงานไปสหรัฐฯ จากเดิมไม่ต้องมีการเสียภาษีนำเข้า ก็ต้องเสียภาษีเฉลี่ยประมาณ 3-4% ทำให้มีภาระประมาณ 600 ล้านบาท ไม่เกินนั้น นี่จะเป็นผลกระทบที่เป็นตัวเงินที่เป็นภาระ
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์ ได้ทราบเหตุการณ์นี้มาล่วงหน้าแล้ว จึงได้มีการทำงานร่วมกันมาตลอดตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าจะหาลู่ทางในการแข่งขันในสินค้า 147 รายการกับสินค้าของประเทศอื่นที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้อย่างไร สุดท้ายได้คำตอบว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการแข่งขันเรื่องราคา แม้จะต้องมีภาระภาษี 600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมาก็ตาม แต่จะแข่งในเรื่องคุณภาพ และความเชื่อถือได้ของสินค้าจากประเทศไทย มั่นใจว่าสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้อยู่แล้ว ประกอบกับต้องหาตลาดประเทศอื่นเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีอะไรน่ากังวล
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ