- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 01 November 2020 20:11
- Hits: 8325
อธิบดีทศพล..เผยภารกิจกรมพัฒน์ฯ ปี 64 สอดคล้องนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล เปิดแผนการทำงานเชิงรุก 3 ด้าน : สร้างความเข้มแข็งเอสเอ็มอีกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยเทคโนโลยี ส่งเสริมธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล พร้อมสร้างบรรยากาศการทำงานแบบทีมเวิร์ค โปร่งใส
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคนที่ 29 แจงภารกิจปี 2564 สอดคล้องนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล เปิดแผนการทำงานเชิงรุก 3 ด้าน ที่ต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จ ...ดูแลเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแบบเข้มข้นให้พร้อมก้าวสู่การเป็นชาติแห่งการค้าและบริการ อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจโดยนำเทคโนโลยี/นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และส่งเสริมมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า คู่ขนาน...สร้างบรรยากาศการทำงานแบบทีมเวิร์ค โปร่งใส สนับสนุนงานซึ่งกันและกัน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ในฐานะที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคนใหม่ ซึ่งเป็นอธิบดีคนที่ 29 ของกรมฯ นี้ โดยกำหนดภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2564 นี้ ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเป็นหลัก เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยและทั่วโลกประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยของประชาชน ด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ขณะที่ การดำเนินงานด้านการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องและมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง"
"ขณะที่การบริหารงานภายในกรมฯ จะมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ โดยจะสร้างบรรยากาศการทำงานแบบทีมเวิร์ค บูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน เกื้อกูลสนับสนุนกัน ผสานให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งภายนอกและภายในองค์กร ข้าราชการและบุคลากรของกรมฯ ทุกคนทุกระดับจะทำงานด้วยความโปร่งใส และต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี อยู่ตลอดเวลา...เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จขององค์กรร่วมกัน"
"ภารกิจสำคัญเร่งด่วน 3 ด้าน ที่จะดำเนินการในปี 2564 นี้ ประกอบด้วย
1) การดูแลเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแบบเข้มข้น เพื่อให้เป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอทอป และสินค้าเกษตร เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้และส่งเสริมให้เข้าสู่ช่องทางการตลาดที่ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการ และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ในรูปแบบ Omni Channel (การขายแบบ 2 ทาง) ผ่านการจำหน่ายบนห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกชุมชนทั่วประเทศ รวมถึง การสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจร้านอาหาร) ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ และจะเชื่อมโยงธุรกิจ Startup กับ เอสเอ็มอี ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยี ยกระดับและปิดจุดอ่อนการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็ง นอกจากนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย ด้วยการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการร้านค้าส่งค้าปลีกตามเกณฑ์มาตรฐาน และพัฒนาสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย ให้ร้านโชวห่วยในพื้นที่เป็นกลไกกระจายรายได้และกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากเป็นแหล่งจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคของชุมชน เป็นช่องทางการกระจายสินค้าโอทอป และสินค้าชุมชนต่างๆ และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ
2) การสร้างบรรยากาศที่ดีในการดำเนินธุรกิจของไทย สร้างธุรกิจธรรมาภิบาลไทย สร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า (Business Governance) โดยจะเน้นทั้งการกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง รวมถึง การส่งเสริมให้ธุรกิจนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยยกระดับธุรกิจตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้น (อิงเกณฑ์มาตรฐานสากล) เพื่อเป็นธุรกิจต้นแบบ นอกจากนี้ จะใช้ระบบบัญชีมาตรฐานเข้ามาช่วยในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ โดยให้สามารถจัดทำบัญชีผ่านทางแอพพลิเคชั่น หรือทางออนไลน์ และสามารถนำส่งงบการเงินประจำปีได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนนำข้อมูลทางบัญชีที่ได้ช่วยในการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมหรือพัฒนาธุรกิจของตนเอง รวมทั้ง ยกระดับขีดความสามารถด้านบัญชีของผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาสำนักงานบัญชีสู่เกณฑ์คุณภาพ การส่งเสริมสำนักงานบัญชีคุณภาพสู่สำนักงานบัญชีดิจิทัล และสร้างนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ (Young & Smart Accountant) ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ"
3) เดินหน้าพัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการจองชื่อนิติบุคคล การพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (e-Foreign Certificate) อำนวยความสะดวกนักลงทุนชาวต่างชาติ การผลักดันการใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ และน่าลงทุนให้มากยิ่งขึ้น
พร้อมทั้ง มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลกลางของกรมฯ ให้เป็น 'Big Data' สำหรับผู้ประกอบการและระบบการค้าของไทย รวมถึงการให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลสู่หน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อการบริการประชาชน และภาคธุรกิจ จนเป็นโครงข่ายที่ทรงพลังนำมาซึ่งพันธมิตรทางการค้า และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจไทยในระยะยาว" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ