- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 24 October 2020 14:17
- Hits: 3437
จุรินทร์ ถกกรอ.พาณิชย์ ลุยแก้ 15 ประเด็นเร่งด่วน อำนวยความสะดวกส่งออก
จุรินทร์ ประชุม กรอ.พาณิชย์ สรุป 15 ประเด็นเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งแก้ไขและผลักดัน เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เตรียมดันขายข้าวจีน แก้ปัญหาส่งออกรถยนต์เวียดนาม คลี่คลายอินเดียกำหนดมาตรฐานเคมีภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี แก้ปัญหาส่งออกรถยนต์ใหม่ โปรโมตสินค้าไทยปลอดโควิด-19 แก้ปัญหาต้นทุนขนส่ง บาทแข็ง น้ำตาลทรายโดนไต่สวนทุ่มตลาด เพิ่มสภาพคล่อง SMEs เร่งค้าชายแดน เชื่อมเขตเศรษฐกิจ 3 ประเทศ เพิ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ แก้ปัญหาออกใบ C/O วันหยุด ลุยเปิดเจรจาเอฟทีเอ และตั้งกองทุนเอฟทีเอ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ได้ข้อสรุปออกมาทั้งสิ้น 15 ประเด็น ที่จะต้องเร่งแก้ไขและผลักดัน โดยมีทั้งเรื่องที่จะดำเนินการในทันที เรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้การส่งออกของไทยมีความคล่องตัว นำรายได้เข้าประเทศ
โดยปัญหาทั้ง 15 ประเด็น ได้แก่ 1.การเร่งรัดการส่งออกข้าว ตามที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ไทย-จีน ปริมาณ 1 ล้านตัน ล่าสุดได้ส่งมอบแล้ว 7 แสนตัน เหลือ 3 แสนตัน โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกำลังดำเนินการเสนอราคา ซึ่งได้เร่งรัดให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามความคืบหน้า
2.การแก้ไขปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ที่ยังติดประเด็นการตรวจสอบมาตรฐาน เช่น ต้องตรวจทุกรุ่น ทำให้การส่งออกติดขัด ซึ่งได้มีการแก้ปัญหาโดยผลักดันให้อาเซียนมีข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงนามของแต่ละประเทศ คาดว่าภายในกลางปีหน้าจะเสร็จสิ้น
3.การส่งออกไปอินเดีย มีปัญหาต้องคลี่คลาย หลังจากอินเดียได้ออกมาตรฐานสินค้าเคมีภัณฑ์และปุ๋ยเคมี ที่จะบังคับใช้ต้นปีหน้าถึงกลางปี ทำให้อินเดียต้องมาตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นรายโรงงาน รายสินค้า ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปหยิบยกประเด็นนี้หารือผ่านทางไกลในวันที่ 29 ต.ค.2563 เพื่อแก้ไขปัญหา
4.การส่งออกรถยนต์ที่ผลิตใหม่ มีปัญหาเวลานำรถไปส่งออกที่ท่าเรือ จะติดขัดเป็นรถไม่มีป้ายทะเบียน ทำให้ถูกจับกุม ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศไปหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก เพื่อหาทางออก
5.การสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยปลอดโควิด-19 จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยผ่านคลิปวิดีโอหลายภาษา หลังจากที่ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกับ 4 กระทรวง คือ พาณิชย์ เกษตร สาธารณสุข และมหาดไทย เพื่อทำมาตรการดูแล
6.การแก้ไขปัญหาต้นทุนขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมเรือ ที่มีราคาสูง หรือการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยบังคับให้เอกชนใช้ท่าเรือฝั่งที่คับแคบ การเก็บค่าใช้จ่ายผ่านร่องน้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
7.ค่าเงินบาทแข็งค่า ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นำประเด็นปัญหาเข้าหารือใน ศบศ.
8.การแก้ปัญหาเวียดนามเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าน้ำตาลทราย มอบให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับผู้ส่งออกน้ำตาลทำคำชี้แจงและแก้ต่างข้อกล่าวหา
9.การช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs จะผลักดันให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ช่วยดูแล
10.การแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดน ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการเปิดด่าน เน้นฝั่งสปป.ลาว และกัมพูชา
11.ผลักดันเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน สปป.ลาว และไทย เข้าด้วยกัน โดยให้เน้นการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม สิทธิพิเศษทางภารค้า เพื่อส่งเสริมการส่งออก
12.การผลักดันให้มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนและผ่านแดน และการส่งออกของไทย โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะไปหารือกับภาคเอกชน เพื่อให้ได้คำตอบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
13.การอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) โดยมอบให้กรมการค้าต่างประเทศรับไปพิจารณาว่าจะให้บริการในช่วงวันหยุดตามที่เอกชนเสนอได้อย่างไร
14.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเดินหน้าเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และอาเซียน-แคนาดา เป็นต้น โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะผลักดันให้มีการลงนามในเดือนพ.ย.2563 นี้ รวมถึงการร่วมมือกับมณฑลและรัฐต่างๆ เพื่อขยายการค้า และการส่งออก เช่น การลงนามกับมณฑลไหหลำ ของจีน และรัฐเตลังกานา ของอินเดีย
15.การผลักดันจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี
“ปัญหาและข้อเสนอทั้ง 15 ประเด็นนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการแก้ไข และเดินหน้า ถ้าประเด็นใดทำเสร็จ ทำจบ ก็จะเอาออกไป แต่ถ้าประเด็นใดยังค้างอยู่ ก็จะเอาเข้ามาหารือกันอีกว่าติดขัดอะไร หรือถ้ามีประเด็นใหม่ๆ ก็จะนำเพิ่มเข้ามา เพื่อผลักดันแก้ไขต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออก และนำรายได้เข้าประเทศ”นายจุรินทร์กล่าว
ช่วยส่งออก! จุรินทร์ จับมือภาคเอกชน ลุยคลายปมปัญหาส่งออก เดินหน้าดันตัวเลขการส่งออก นำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดในช่วงวิกฤติของประเทศและโลกในปัจจุบัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีทุกกรมและข้าราชการระดับ10 ร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย และเอ็กซิมแบงค์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์มุ่งให้เกิดการจับมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศกำลังประสบกับปัญหาทั้งเรื่องโควิด-19และด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับในหลายประเทศทั้งนี้เพื่อร่วมกันจับมือแก้ปัญหาให้ปรากฏผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
หลังการประชุมนายจุรินทร์ กล่าวว่า การร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานั้นแบ่งเป็น 3 หมวด ค่อ การเร่งรัดการส่งออก การค้าชายแดน-การค้าข้ามแดน และยุทธศาสตร์การเจรจาข้อตกลงทางการค้าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สรุปรวม 15 ประเด็น คือ
1.การเร่งรัดการส่งออกข้าว โดยเฉพาะผ่านการทำ MOU ระหว่างไทยกับจีน มีข้อตกลงที่จะนำเข้าข้าวจากไทย 1,000,000 ตันได้ดำเนินการไปแล้ว 700,000 ตัน ค้างอยู่อีก 300,000 ตัน โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกำลังดำเนินการเสนอราคาอยู่
2.การผลักดันการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศเวียดนาม ที่ติดขัดเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานรถยนต์ที่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม มีกฎเกณฑ์รายละเอียดในการตรวจสอบ เช่น การตรวจทุกรุ่น ทำให้การส่งออกของไทยติดขัดมีอุปสรรค ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้มีข้อตกลงที่จะยอมรับการตรวจรถยนต์นำเข้าหรือส่งออกระหว่างกันโดยไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อน และเห็นชอบร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ โดยทั้งไทยและเวียดนามอยู่ในนั้นด้วย อยู่ในขั้นตอนการลงนามร่วมกันของแต่ละประเทศ คาดว่าภายในกลางปีหน้าจะเสร็จสิ้น จะช่วยให้การส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามคล่องตัวขึ้น
3.การส่งออกของไทยไปอินเดีย มีการตรวจสอบรายโรงงานและรายสินค้า ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการส่งออก ที่ประชุมมอบให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือทางไกลในวันที่ 29 ตค.นี้ให้สะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น
4.การส่งออกรถยนต์ รถยนต์ที่ผลิตใหม่ภายในประเทศไทยเวลาจะส่งออกนั้นจะติดขัดเรื่องยังไม่มีทะเบียนต้องไปทำทะเบียน อันนี้เป็นปัญหาอุปสรรคในการส่งออก ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นต้น
5.ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยว่าปลอดโควิดซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไปล่วงหน้าแล้ว มีการลงนาม MOU ร่วมกัน 4 กระทรวง ระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โดยจะมีการออกเอกสารรับรองว่าสินค้าปลอดโควิด-19และกระทรวงพาณิชย์จะจัดงานประชาสัมพันธ์เป็นคลิปVODหลายภาษาออกไปทั่วโลกเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าสินค้าของเรามีกระบวนการผลิตที่ปลอดโควิด-19
6.เรื่องต้นทุนการขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือกับค่าทำเนียมเรือที่มีราคาสูง และที่อาจมีการยกเลิกตู้ที่ประเทศไทยจองไว้หรือที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยบังคับให้ภาคเอกชนหรือผู้ส่งออกต้องไปใช้ท่าเรือชายฝั่ง A0 ซึ่งค่อนข้างคับแคบ ทำให้ติดอุปสรรคที่ต้องการความรวดเร็วการเรียกเก็บค่าการใช้ร่องน้ำ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับภาคเอกชนในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็วต่อไป
7.เรื่องค่าเงินบาทได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปพูดในที่ประชุม ศบศ.หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไป
8.การที่เวียดนามได้มีการไต่สวนกล่าวหาว่าน้ำตาลไทยทุ่มตลาดในเวียดนาม มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกน้ำตาลของไทยหารือร่วมกันในการทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
9.การช่วยผู้ส่งออกรายย่อยหรือเอสเอ็มอีนั้น จะให้เอ็กซิมแบงค์ช่วยเพิ่มช่องทางและเพิ่มเป้าหมายที่จะช่วยเอสเอ็มอีให้เพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และเอ็กซิมแบงค์ช่วยเพิ่มชนิดของสินทรัพย์หรือทรัพย์สินที่นำไปเป็นหลักประกันเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถกู้ได้สะดวกขึ้น
10.การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน อยากให้มีการเปิดด่านหรือจุดผ่อนปรนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะไทยลาวมีทั้งหมด 39 จุดไทยกัมพูชามี 10 จุด มอบหมายให้ผู้แทนของกรมการค้าต่างประเทศไปหาหรือกับหอการค้า กำหนดจุดเร่งด่วนที่เป็นเป้าหมาย ที่จะเร่งช่วยผลักดันให้มีการเปิดด่านต่อไปเพื่อส่งเสริมตัวเลขการส่งออกให้มากขึ้นโดยเร็ว
11.ให้มีการเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ไทย ลาว และจีน เพราะทั้งสามประเทศมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าสามารถเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสามเขตนี้ได้ เส้นทางคมนาคมความร่วมมือและการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกัน จะช่วยส่งเสริมการส่งออกให้ทั้งสามประเทศ
12.ต้องการให้มีการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะร่วมมือกับภาคเอกชนว่าทำเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
13.การอำนวยความสะดวกการส่งสินค้าข้ามแดนและสินค้าชายแดนในการออกใบ C/O ซึ่งเอกชนร้องเรียนว่าอาจติดปัญหาอุปสรรค ถึงมอบเป็นนโยบายว่าให้ไปหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ว่ามีปริมาณการจราจรทาง C/O มากน้อยแค่ไหน ให้ถือหลักว่ากระทรวงพาณิชย์ยินดีให้บริการให้ดีที่สุด แม้แต่ในช่วงวันหยุด เพื่อที่จะเร่งรัดการส่งออกในช่วงวิกฤติ
14.ในเรื่องของยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป้าหมายคือ 1.เราจะเร่งรัดการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ไทยกับสหราชอาณาจักร ไทยกับแคนาดา ไทยกับ EFTA และไทยกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง RCEP ซึ่งจะร่วมมือให้มีการลงนามให้ได้ภายใน พฤศจิกายน 2563 และผมมอบให้มีการทำFTA รายมณฑล คือการทำ MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย ภาคเอกชน ประกอบกับมนฑลต่างๆหรือรัฐต่างๆของประเทศใหญ่ๆ เพื่อลงลึกในการที่จะให้มีข้อตกลงพิเศษทางการค้าระหว่างกัน ขณะนี้มีความคืบหน้าของกระทรวงพาณิชย์ไทยกับมณฑลไหหลำ ซึ่งไหหลำจะกลายเป็นเมืองปลอดภาษีแห่งถัดไปของจีนหรือจะเป็นฮ่องกงสองในอนาคต เราจะเข้าไปเป็นกลุ่มแรกๆ อีกไม่นานนี้จะลงนามข้อตกลงได้ เพราะยกร่างเสร็จแล้วรอทั้งสองฝ่ายปรับปรุงแก้ไขระหว่างกันจะนำไปสู่การลงนามได้ภายในเวลาเร็ว
และข้อตกลงระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับรัฐเตลังกานาของประเทศอินเดียซึ่งมีความก้าวหน้ามาก ได้มีการกำหนดวันที่จะลงนามร่วมกันแล้วเครื่องวันที่ 18 มกราคมปีหน้า ซึ่งครบรอบหนึ่งปีที่ผมนำเอกชนไปเยือนรัฐเตลังกานาที่ประเทศอินเดีย
15.เมื่อ FTA บรรลุผลมากขึ้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA อยู่บ้างในบางกลุ่มของผู้ส่งออกหรือผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชนภาคการเกษตร ควรมีการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเลขานุการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุน FTA ขึ้นมา และต่อไปนี้ภาครัฐกับเอกชนจะจับมือร่วมกันร่วมกันแก้ปัญหา เดินหน้าด้วยกัน เพื่อทำตัวเลขการส่งออกให้ดีที่สุดและนำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดในช่วงวิกฤติของประเทศและวิกฤติโลกในปัจจุบัน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ