- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 05 October 2020 18:00
- Hits: 4021
เงินเฟ้อ ก.ย.ลบ 0.70% ลดต่อเนื่อง 7 เดือนติด เหตุน้ำมันเป็นตัวฉุด แม้อาหารสดจะขยับเพิ่ม
เงินเฟ้อเดือนก.ย.63 ติดลบ 0.70% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เหตุเจอราคาพลังงานที่ปรับลดลงเป็นตัวฉุดหลัก แม้ราคาอาหารสดจะขยับเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มีแรงดันให้เงินเฟ้อขยับ คาดไตรมาส 4 ยังติดลบต่อเนื่อง ประเมินลบน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เหตุมีมาตรการรัฐมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น คาดทั้งปีติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% มีค่ากลางลบ 1.1%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.ย.2563 เท่ากับ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2563 ที่ผ่านมา และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันของปีนี้ นับตั้งแต่มี.ค.2563 เป็นต้นมา ส่วนเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ลดลง 0.99% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก ดัชนีอยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 เฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.32%
ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทย ได้กลับมาติดลบครั้งแรกในเดือนมี.ค.2563 โดยลดลง 0.54% จากนั้นเดือนเม.ย.-ส.ค.2563 ก็ติดลบมาโดยตลอด คือ ลดลง 2.99% , 3.44% , 1.57% , 0.98% และ 0.50% ตามลำดับ ซึ่งตามทฤษฎี เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน จะถือเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นการฝืดทางเทคนิค ไม่ใช่ฝืดจริง เพราะสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวปกติ และหลายรายการเพิ่มขึ้น แต่ตัวที่ฉุดให้เงินเฟ้อลดลง คือ ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
“สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.70% มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ แม้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อหมู และผักสดสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนสินค้าอื่นๆ เคลื่อนไหวปกติ โดยเงินเฟ้อที่ลดลง ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งมีทิศทางดีขึ้น ทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศ เป็นต้น”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับ รายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.70% มาจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.94% จาการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 15.77% หมวดเคหสถานลด 0.19% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษาลด 0.21% ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.42% จากการเพิ่มขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 3.38% ผักสด เพิ่ม 11.21% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.71% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.51% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.67%
เมื่อพิจารณาสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า เดือนก.ย.2563 ราคาสินค้าสูงขึ้นมีจำนวน 128 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2563 และสูงขึ้น 224 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ขณะที่ราคาลดลงมี 111 รายการ เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และลดลง 130 รายการเมื่อเทียบเดือนก.ย.2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ส่วนราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 183 รายการ เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ เมื่อเทียบเดือนก.ย.2562
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะยังคงติดลบ ประเมินไว้ที่ติดลบ 0.34% เพราะราคาพลังงานยังลดลง จากความต้องการใช้ทั่วโลกที่ลดลง เพราะหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แต่คาดว่า อัตราติดลบจะน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เพราะความต้องการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมถึงราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และผักสด ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด โดย สนค. ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2563 ไว้ที่ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1%
สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2563
ภาพรวม
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.70 (YoY) การลดลงของเงินเฟ้อเกิดจากสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (Ft) ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์ และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป ที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (YoY)
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.70 (YoY) การลดลงของเงินเฟ้อเกิดจากสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (Ft) ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์ และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป ที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (YoY)
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกันยายน 2563
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.70 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.94 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.99 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ค่าผ่านทางพิเศษ และการสื่อสาร (ค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ที่ลดลง หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.19 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.21 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ ค่าห้องพักโรงแรม) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.02 (เบียร์)
ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (น้ำยาระงับกลิ่นกายค่าแต่งผมชาย) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.17 (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยกทรง เสื้อยืดสตรี) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (ค่าโดยสารเครื่องบิน) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น ร้อยละ 1.42 ตามการสูงขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.38 (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาหมึกกล้วย) ผักสด ร้อยละ 11.21 (ผักชี มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.25 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.71 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ร้อยละ 0.51 และ 0.67 ตามลำดับ (ข้าวแกง/ข้าวกล่อง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด) ขณะที่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 0.94 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 0.28 (ไข่ไก่ นมสด) ผลไม้ ลดลงร้อยละ 1.80 (ส้มเขียวหวาน มะม่วง แตงโม เงาะ มะละกอสุก)
ดัชนี ราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.11 (MoM) ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.73 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.86 (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ -0.99 (AoA)
ดัชนีราคาผู้ผลิต
ดัชนี ราคาผู้ผลิต เดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.3 (YoY) ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 ได้แก่ สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแผ่น ลวดเหล็ก บรรจุภัณฑ์โลหะ) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ตะกั่ว ตามภาวะราคาตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.2 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง อ้อย พืชผัก (แตงกวา ผักคะน้า ผักกาดขาว) และผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน) ปริมาณผลผลิตลดลง จากปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ ผลปาล์มสด ยางพารา จากมาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประกอบกับปริมาณผลผลิตยางลดลง กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่) ตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลานิล) ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
ดัชนี ราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ -2.1 (AoA)
ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกันยายน 2563
ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.2 (YoY) ปรับตัวดีขึ้น จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการ และผู้ประกอบการปรับราคาลงเพื่อเร่งระบายสินค้า โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 5.5 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.8 (ชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง) หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป)
ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องแกรนิต) ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ยังคงเป็นผลจากโรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์มีการหยุดการผลิต (Shut down) ในช่วงไวรัสโควิด-19 หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ถังเก็บน้ำสแตนเลส) หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (โถส้วมชักโครก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา)
ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.4 (AoA)
ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม
ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.1 เทียบกับระดับ 43.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบปี เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่กลับเข้าสู่ช่วงความเชื่อมั่น (สูงกว่าระดับ 50) ได้อีกครั้งในรอบ 11 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 50.4 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.2 สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในหลายสาขา
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 4 ปี 2563
อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมทั้งราคาอาหารสดบางชนิด อาทิ เนื้อสัตว์และผักสดยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1)
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ