WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aB26

ส่งออกส.ค.ฟื้นตัวดีขึ้น ลบเหลือ 7.94% มูลค่าทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญในรอบ 5 เดือน

       ส่งออกส.ค.63 ฟื้นตัวต่อเนื่อง ติดลบเหลือ 7.94% มูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 5 เดือน ส่วนยอดรวม 8 เดือน ติดลบเหลือ 7.75% คาดแนวโน้มขาขึ้นเป็นเครื่องหมายถูก ทั้งปีลบไม่เกิน 2 หลักแน่นอน ประเมินลบ 5% ถึงลบ 8%

        น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนส.ค.2563 มีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.94% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทั้งในแง่มูลค่าที่กลับมาส่งออกเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 5 เดือนนับจากเดือนเม.ย.2563 และการขยายตัวติดลบน้อยลง จากที่เคยลบสูงสุดถึง 23.17% ในเดือนมิ.ย.2563. ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะเป็นขาขึ้นลักษณะเครื่องหมายถูก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.68% ทำให้เกินดุลการค้ามูลค่า 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

       สำหรับ การส่งออกรวม 8 เดือนของปี 2563 มีมูลค่า 153,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.75% นำเข้ามูลค่า 134,981.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.31% เกินดุลกาค้ามูลค่า 18,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

        ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังขยายตัวติดลบอยู่ มาจากการฟื้นตัวของภาคการขนส่งและโลจิสิตกส์ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น การค้าโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็เริ่มน่าเป็นห่วง เพราะมีบางประเทศเริ่มที่จะล็อกดาวน์อีก และสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง เนื้อสุกร สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน ของใช้ในบ้าน และซ่อมแซมบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ และสินค้าป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือยาง ส่งออกได้ดีขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และยังดีจนถึงปัจจุบัน

       ส่วนรายละเอียดการส่งออก พบว่า สินค้าอุตสาหกรรมยังคงหดตัว 6.2% โดยอัญมณีและเครื่องประดับ ลด 55.6% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 15.7% รถยนต์และส่วนประกอบ ลด 28.7% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ลด 18.3% แต่ถุงมือยาง เพิ่ม 125.9% เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 31.3% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 35.8% และทองคำ เพิ่ม 71.5%

         ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลด 13.2% โดยน้ำตาลทราย ลด 64.2% ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ลด 28.7% ข้าว ลด 15% แต่น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 599.6% สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 962.1% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 22.3% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 15.6%

         ทางด้านตลาดส่งออก พบว่า หลายๆ ตลาดการส่งออกติดลบน้อยลง บางตลาดเริ่มเป็นเทรนด์ขาขึ้น แต่หางถูกยาว บางตลาดเริ่มเป็นแนวราบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตลาดหลักลดลง 4.1% โดยสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 15.2% แต่ญี่ปุ่น ลด 16.6% สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 16.9% ตลาดศักยภาพสูง ลด 10.2% เช่น อาเซียน 5 ประเทศ ลด 16.5% CLMV ลด 9.3% อินเดีย ลด 18.8% จีน ลด 4% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 24.3% เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลด 22.5% ตะวันออกกลาง ลด 30.3% ลาตินอเมริกา ลด 34.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 43.4% ทวีปแอฟริกา ลด 9.6%

        น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง แม้จะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีข่าวความสำเร็จของการผลิตวัคซีน-19 ในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศการค้ากลับมาคึกคัก โดยยังต้องระวังเรื่องการระบาดซ้ำ และบางประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์ รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ที่จะเป็นตัวกดดันการค้าโลก

         “ถ้าไทยยังคงรักษาระดับการส่งออกแต่ละเดือนได้ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ทั้งปีการส่งออก จะไม่ติดลบในระดับ 2 หลักอย่างที่หลายๆ ฝ่ายได้ประเมินเอาไว้ น่าจะติดลบ 5% ถึงลบ 8% โดยการส่งออกลบ 5% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,145 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าทั้งปีรวม 239,955 ล้านเหรียญสหรัฐ และลบ 8% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 18,298 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าทั้งปีรวม 226,567 ล้านเหรียญสหรัฐ"น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว 

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2563

      สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2563 ว่าจะหดตัวเพียงร้อยละ 4.5 ดีขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนหน้าที่คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 6.0 โดยภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวดี และภาคการผลิตจีนกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกต่างมีทิศทางดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2563 กลับมาแตะเหนือระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

    สินค้าที่ขยายตัวได้ดีแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เป็นต้นมา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ การส่งออกทองคำขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคา ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย

      ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาขยายตัวหลังการหดตัวในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเมียนมา รวมทั้งตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ล้วนมีอัตราการหดตัวที่ลดลงมากในเดือนนี้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี สะท้อนภาพรวมการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว และส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทย

    ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2563 มีมูลค่า 20,212.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.94 ขณะที่การส่งออก 8 เดือนแรก (มกราคม–สิงหาคม) หดตัวร้อยละ 7.75

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ

       เดือนสิงหาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 20,212.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.94 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 15,862.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 19.68 การค้าเกินดุล 4,349.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 153,374.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.75 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 134,981.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 15.31 ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 18,393.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท

       เดือนสิงหาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 635,219.53 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.43 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 505,383.49 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 17.54 การค้าเกินดุล 129,836.04 ล้านบาท ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 4,777,201.73 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.34 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 4,257,868.90 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 16.02 ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 519,332.83 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

        มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 13.2 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 599.6 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวสูงในอินเดีย และตลาดอื่น ๆ เช่น เคนยา มาเลเซีย และเมียนมา) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 962.1 ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในฮ่องกง ลาว และกัมพูชา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 22.3 ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 15.6 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 64.2 หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน

     แต่ยังขยายตัวได้ดีในเวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) ยางพารา หดตัวร้อยละ 32.2 หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ตุรกี บราซิล อินเดีย และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวได้ดีในมาเลเซีย และเวียดนาม) ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป หดตัวร้อยละ 28.7 หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และแคนาดา) ข้าว หดตัวร้อยละ 15.0หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ ฮ่องกง เบนิน จีน คองโก สิงคโปร์ และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และแองโกลา) แต่ข้าวพรีเมียม และข้าวกล้องยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 4.7

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

      มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.2 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 125.9 ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 31.3 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เปรู อินโดนีเซีย และอียิปต์) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.8 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลาว) ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 71.5 (ขยายตัวในสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน) สินค้าที่หดตัว

      ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 55.6 (หดตัวในฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในเยอรมนี และออสเตรเลีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 15.7 หดตัว 20 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 28.7 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐฯ) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 18.3 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ เม็กซิโก ฮ่องกง แอฟริกาใต้ เวียดนาม และเบลเยียม) ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.7

ตลาดส่งออกสำคัญ

      การส่งออกไปตลาดสำคัญมีการฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องในหลายประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากหลายประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

     ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ ดังนี้ 1) การส่งออกไปตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.1 โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 16.6 และร้อยละ 16.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 15.2 2) การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 10.2 จากการลดลงของการส่งออกไปอาเซียน (5) กลุ่มประเทศ CLMV และเอเชียใต้ ร้อยละ 16.5 ร้อยละ 9.3 และ 17.6 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวร้อยละ 4.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในจีน และ 3) การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 24.3 ตามการลดลงของการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัวร้อยละ 22.5 ตะวันออกกลาง (15) หดตัวร้อยละ 30.3 ลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 34.7 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 43.4 และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 9.6

​​​​​​​ตลาดสหรัฐอเมริกา

        ขยายตัวสูงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 15.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 5.9

ตลาดจีน

       หดตัวร้อยละ 4.0 จากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 3.3

ตลาดสหภาพยุโรป(15)

       หดตัวร้อยละ 16.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์และอุปกรณ์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 17.1

ตลาดญี่ปุ่น

       หดตัวร้อยละ 16.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล และไก่แปรรูป สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.3

ตลาดอาเซียน (5)

      หดตัวร้อยละ 16.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.6

ตลาด CLMV

       หดตัวร้อยละ 9.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่ม เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.5

ตลาดทวีปออสเตรเลีย(25)

        หดตัวร้อยละ 22.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 15.4

ตลาดตะวันออกกลาง (15)

        หดตัวร้อยละ 30.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 13.1

ตลาดเอเชียใต้

       หดตัวร้อยละ 17.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติก และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ (อาทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง) น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 34.9

ตลาดอินเดีย

       หดตัวร้อยละ 18.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไขมันและน้ำมัน (อาทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง) เหล็กและผลิตภัณฑ์ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 37.3

ตลาดลาตินอเมริกา

        หดตัวร้อยละ 34.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 27.2

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS

      หดตัวร้อยละ 43.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เนื้อปลาสด แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รองเท้า เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 27.8

ตลาดทวีปแอฟริกา

        หดตัวร้อยละ 9.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไขมันและน้ำมัน เครื่องยนต์สันดาป และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 25.6

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563

       การส่งออกของไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ประเทศคู่ค้ายังสามารถควบคุมได้ และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ประกอบกับปัจจัยบวกข่าวความสำเร็จ ในการสร้างวัคซีนต้านโควิด-19ในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศการค้าเริ่มกลับมาคึกคัก อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าการผลิตวัคซีนในปริมาณมากอาจไม่สามารถทำได้ในปีนี้ ประกอบกับกำลังซื้อที่หายไปในช่วงการระบาดยังไม่กลับมา ทำให้ผู้ส่งออกในบางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ มีความกังวลเกี่ยวกับยอดการส่งออกในปีนี้ อย่างไรก็ดี สินค้าอาหารแปรรูปยังเป็นที่ต้องการในหลายประเทศจากความไม่แน่นอนดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป ได้แก่ การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ส่งผลให้การค้าชายแดนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น

         สำหรับการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เปิดโครงการปั้นซีอีโอ Gen Z มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 12,000 คน เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจยุคนิวนอร์มอล ด้านการค้าระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่เวทีโลกมากขึ้น สำหรับมาตรการระบายสินค้าเกษตรในประเทศในเดือนสิงหาคม ได้เริ่มเปิดศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ (One stop Fruit Export Center หรือ OSFEC) หวังช่วยลดขั้นตอนส่งออก ด้วยบริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) โดยใช้จังหวัดชุมพรเป็นต้นแบบ และจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เช่น ราชบุรี ปทุมธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี เป็นต้น

               โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!