- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 14 September 2020 18:44
- Hits: 16504
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีปี 2563 Design Excellence Award 2020 (DEmark)
สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดพิธีมอบรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) เพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก รางวัลนี้มีที่มาจากรางวัล Prime Minister’s Export Award (PM Export Award) ในสาขา Best Design มีการพัฒนามาสู่การพิจารณาให้รางวัลสินค้าที่มีการออกแบบดี จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 ในปีนี้ทางกรม ได้พิจารณาแจกรางวัลในโครงการนี้ จำนวน 72 รายการ จากผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ ที่ได้รับรางวัล นับว่าประสบความสำเร็จในการผลักดันผลงานออกแบบไทยออกสู่สายตาของตลาดสากลมาได้อย่างต่อเนื่อง
เป็นปีแรกที่เก้าอี้สานด้วยเส้นใยฝ้าย SEXY DINNING CHAIR ในกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ได้ถูกส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัล DEmark Award โดยห้างหุ้นส่วน บุญชูเจริญกิจ คุณนัษฐพงษ์ เจริญกิติวราพร ผู้ออกแบบเก้าอี้เซ็กซี่ด้วยแรงบันดาลใจจาก “ความต่าง” โดยแนวคิดของงานออกแบบชิ้นนี้มาจากการทอเครื่องจักรสาน จุดเด่นคือความงดงามจากความเรียบง่ายของวัสดุที่ใช้ คือสายผ้าฝ้ายที่ออกแบบให้เป็นสองสีในสายเดียว นำมาถักทอมัดเป็นโครง งานฝีมือสไตล์ใหม่ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร โดยสร้างสไตล์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม เน้นธรรมชาติของวัสดุและการสร้างแถบกากบาทให้เกิดมิติของความเคลื่อนไหวของสายผ้าและลวดลายการจักสาน รางวัล DEmark Award 2020 เป็นความภาคภูมิใจทำให้เกิดกำลังใจในการคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อให้เกิดชิ้นงานที่สวยงามมากยิ่งขึ้น นับเป็นความท้าทายสำหรับนักออกแบบที่ไม่ต้องการหยุดอยู่กับที่ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตลาดและลูกค้า
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กับแนวทางการทำธุรกิจที่อยู่ร่วมกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน งาน Demark 20 ปีนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คืออีกหนึ่งผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในงานครั้งนี้ เพราะในปีนี้ ทางมูลนิธิฯ กวาดรางวัลไปทั้งหมด 4 รางวัล จากทั้งหมด 72 รางวัล ทั้งในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย และกลุ่มบรรจุภัณฑ์สินค้า ได้แก่ Zero ชุดชงกาแฟเซรามิก, เสื้อคลุมกันฝน Hmong, กระเป๋าสะพาย Hmong และ Mulberry x Peaberry บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สิ่งของ ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 4 นี้ ทางมูลนิธิฯ ล้วนได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมากจากการทำงาน และใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน จนเข้าใจวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ จึงได้มาเป็นผลงานดีไซน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งตอบโจทย์เรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุที่นำมาทำเป็นวัสดุเหลือใช้ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ก่อให้เกิดขยะกลับสู่ธรรมชาติ โดย ดร.กฤษณ์ เย็นใจสุด, ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ย้ำในแนวทางการทำให้ธุรกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จไปพร้อมกับความยั่งยืนนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ข้อ นั่นคือ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และ ผลกำไร ซึ่งต้องมีความสมดุล กล่าวคือ ชุมชนต้องได้ประโยชน์ ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสินค้าต้องขายได้ด้วยตัวเอง จึงจะทำให้ธุรกิจชุมชนมีความแข็งแรง และยั่งยืนได้ด้วยตัวมันเอง
สำหรับ โรงแรม Little Shelter โรงแรมดีไซน์ล้ำ ที่ใส่จิตวิญญาณแห่งล้านนาไว้อย่างเต็มเปี่ยม เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลในกลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายใน โดย คุณอมตะ หลูไพบูลย์ Principal, Department of Architecture Co. ที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการ craft งานศิลป์สมัยใหม่ พร้อมสะท้อนรากเหง้าของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือของไทยได้อย่างลงตัว ในขณะที่ยังคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน โดย Little Shelter มีจุดเด่นของงานดีไซน์ อยู่ที่การนำวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ได้แก่ ไม้แป้นเกล็ด มาตกแต่งผิวอาคาร สลับกับ แผ่นโพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นวัสดุสมัยใหม่ เกิดเป็นดีไซน์ร่วมสมัยที่โดดเด่น ส่วนพื้นที่ภายในเน้นโทนสีขาว แสดงถึงความสงบเยือกเย็น มีการใช้ โครงร่มบ่อสร้าง มาทำเป็น art installation เน้น space ที่เป็น atrium ในส่วนของโถงทางเดิน ภายในห้องพัก เพดานจะถูกตกแต่งด้วยภาพสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ ผนังห้องใช้ไม้แป้นเกร็ด สลับแผ่นกระจก ซึ่งจะสะท้อนภาพบนฝ้า ทำให้ดูกว้าง และ surreal แต่ตอกย้ำความเป็นเชียงใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าพักอาศัย จนเป็นที่จดจำไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับการโหวตเป็น best building Façade of the world อีกด้วย ปัจจุบัน Little Shelter ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกหนึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลในกลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย จาก บริษัท รับเบอร์ไอเดีย จำกัด ผลิตสินค้าเก๋ไก๋ “ถุงยางรักษ์โลก” ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นปีแรกรับกับแนวคิด DEmark ในปีนี้ “Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์ หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” คุณอานนท์ เหลืองวนิชประภา Design Director เล่าให้ฟังถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมากับนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกของบรรดาห้างร้านต่างๆ ทำให้กลับมาคิดต่อ ควรจะใช้วัสดุอะไรแทนที่พลาสติกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ตนเองกำลังทำโครงการเกี่ยวกับวัสดุยาง จึงได้ลองผลิตถุงโดยใช้วัสดุ recycle จากถุงมือแพทย์ที่ใช้แล้ว นำมาทำความสะอาดหลอมละลายใหม่ใส่สีสวยงาม เป็นถุงยางรักษ์โลก ที่ตอบโจทย์ในการผลิตทั้งการใช้วัสดุใช้แล้วและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้เกิดมุมมองที่แตกต่างจากเดิมของยางที่ไม่ใช่ยาง แต่เป็นกระเป๋าแฟชั่น เหมาะกับเทรนด์กลุ่มลูกค้าสมัยใหม่ และสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มตลาดที่ให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศเช่นกัน เชื่อมั่นว่ารางวัล DEmark Award จะช่วยให้ลูกค้ามีความสนใจในความแปลกใหม่ของตัวผลิตภัณฑ์และสามารถส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักและไว้วางใจมากขึ้น
คุณอานนท์ เหลืองวนิชประภา Design Director บริษัท รับเบอร์ไอเดียจำกัด
ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล ผลงานก๊อกน้ำรูปทรงสายน้ำ ริวูเลท โดยบริษัท สยามซานิทารีฟิตติ้ง จำกัด คุณนภัส เพชรรัตน์ Product Design Strategist นำเสนอสายน้ำที่เกิดจากการทดลองรูปแบบทางน้ำไหล นำไปสู่การออกแบบประติมากรรมของทางน้ำที่สะท้อนสุนทรียภาพการเคลื่อนไหวของลำธารที่สอดประสานกันอย่างดงามลงตัว เทคโนโลยี 3D Printing ช่วยให้งานออกแบบง่ายขึ้น ทำให้เรามองเห็นมิติที่หลากหลายของสายน้ำ ซึ่งประติมากรรมในห้องน้ำชิ้นนี้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกับงานออกแบบอื่นๆ เพื่อความสมบูรณ์แบบของศิลปะการตกแต่งภายในห้องน้ำได้อย่างลงตัว เหมาะกับผู้ที่ชื่นชมศิลปะ One of the Kind Master Piece มีเพียงชิ้นเดียวที่ต้องการความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
กลุ่มผลงานกราฟฟิกดีไซน์ กับผลงานที่ได้รับรางวัล ในชื่อ งานออกแบบหนังสือตัวอย่างกระดาษ Fedrigoni 100.5 ส่งประกวดโดย บริษัท ฟาร์มกรุ๊ป จำกัด เป็นผลงานหนังสือรวมตัวอย่างกระดาษ Fedrigoni 100.5 ซึ่งแต่ละหน้าประกอบด้วยกระดาษคุณภาพดีจาก Fedrigoni พร้อมทั้งกราฟฟิกและรายละเอียดเนื้อหาที่ครอบคลุมงานกราฟฟิก ตัวอักษร สี เทคนิคการพิมพ์ คีย์ลัดโปรแกรมการออกแบบ และอื่นๆ อีกมามากมาย รวมไปถึงหน้าพิเศษที่นำเสนอ typography ไทยที่สวยงาม หนังสือเล่มนี้จึงเป็นมากกว่าหนังสือรวบรวมตัวอย่างกระดาษ แต่เป็นเหมือนคู่มือประกอบการใช้งานด้านออกแบบ ที่จะช่วยให้ผู้ออกแบบเห็นภาพ รู้เทคนิค และสัมผัสผิววัสดุจริงได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงก่อนผลิตจริง
นับเป็นความสำเร็จ และความภาคภูมิใจของนักออกแบบ และผู้ประกอบการ ที่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัล Design Excellence Award 2020 ในปีนี้ รางวัล DEmark Award จะช่วยส่งเสริมการออกแบบสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยใช้ตราสัญลักษณ์ DEmark เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย รวมถึงยกระดับสินค้าที่มีการออกแบบดีให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก สร้างประโยชน์ทางการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข็งแกร่งในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการประกวดรางวัล Design Excellence Award ได้ที่ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
A9299
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ