- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 14 September 2020 08:48
- Hits: 1758
ทิศทางโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าไทยหลังโควิด
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงงานสัมมนาวิชาการ ‘ทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทยในยุคโควิดภิวัตน์’ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
. สนค. ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน กับโครงสร้างการค้าไทยในยุคหลังโควิด
ดร.สมประวิณ ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบัน มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากจากการที่พึ่งพาทั้งอุปสงค์และอุปทานจากต่างประเทศ ดังนั้น ไทยต้องลดความเสี่ยงหรือบริหาร ความเสี่ยงให้ดีขึ้น อุปทานสินค้าอาจเริ่มกลับมา แต่อุปสงค์ยังไม่เหมือนเดิม
การค้าอาจกลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่น่าจะเท่าก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด จากปัจจัยทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่อาจใช้เวลาสักพักกว่าจะฟื้นตัว รวมทั้งการค้าสินค้าและบริการอื่นๆ ไทยจึงควรมุ่งเน้นภาคการผลิต (sector) ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ (creative) ก็จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
. มองวิฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เพื่อปรับการใช้ทรัพยากรให้ถูกที่ถูกทาง แนวโน้มการค้าโลกจะมาจากคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แต่ก็ยังต้องการของดีราคาไม่แพง
การเป็นสังคมสูงวัยของทั้งไทยและโลก จะปรับเปลี่ยนแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ดร.สมประวิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โลกจะสั้นลง มีความหลากหลาย และเลือกพื้นที่การผลิตภายในภูมิภาคตนเอง (regionalization) มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลก นอกจากนี้ ภาคบริการจะมีบทบาทและเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องนำการบริการเชื่อมต่อกับภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเข้าถึงตลาดในอนาคต
ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ จะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างไร และกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
ในส่วนของ ดร. กฤษฎ์เลิศ ก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การค้าไทยจะเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะการส่งออกสินค้าและตลาดของไทยไม่หลากหลาย รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกได้ก็กระจุกตัวแค่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ
ดังนั้น ต้องทำให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น ด้วยสินค้าที่หลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยสามารถเชื่อมโยงการค้ากับประเทศในภูมิภาคได้อย่างส่งเสริมกัน ไม่ใช่แข่งขัน
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการค้าโลก อาทิ การกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป หันมาสนใจในภูมิภาคตนเองมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแพลตฟอร์มการค้าในรูปแบบต่างๆ
การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีความสามารถในการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า
อีกประการหนึ่ง ที่สำคัญ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลต่อการค้าอย่างมาก ไทยควรปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าให้กระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น พัฒนาทักษะให้แรงงานในภาคบริการที่ไม่สามารถกลับสู่อาชีพเดิมให้มีความสามารถหลากหลายในการหาเลี้ยงชีพ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ยังต้องการแรงงานภาคบริการที่มีทักษะจากไทย
. นอกจากนี้ เราต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเราอยู่ในโลกดิจิทัล จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงระบบได้รวดเร็วและทั่วถึง
. หนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจในระดับสูง เป็นอีกปัจจัยที่ดึงไม่ให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เพราะธนาคารพาณิชย์มักไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีระดับหนี้สูง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจในทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงอาจมีบางธุรกิจที่อยู่รอดและบางธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปเติบโต ในสาขาใหม่ๆ รวมทั้งการกลับสู่ท้องถิ่นเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตและการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม
. ท้ายสุดแล้ว สิ่งสำคัญคือ ไทยต้องเลือกว่าจะอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าใดของภูมิภาค จะสนับสนุนส่งเสริมการผลิตการค้ากับประเทศในภูมิภาคอย่างไรให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แตกต่างกัน เราจะผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value added) ได้อย่างไร เราอาจเป็นปลายทางของกระบวนการผลิตของโลก แต่อาจเป็นต้นทางของการผลิตในภูมิภาคได้
. นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ แต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศแบบมีเงื่อนไขที่เกิดประโยชน์แก่คนในชาติด้วย
. นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวทิ้งท้ายว่าข้อมูลที่ได้รับจากวิทยากรในวันนี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำไปพิจารณาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
. สนค.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าไทย เห็นความสำคัญของการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างรวดเร็วฉับไว และจะได้ใช้ประกอบการกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ