- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 01 September 2020 07:42
- Hits: 5349
รัฐมนตรีการค้าอาเซียนหารือยูเคครั้งแรก เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์การค้าการลงทุนหลังเบร็กซิท
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหารือรัฐมนตรีกระทรวงการค้ายูเคอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังเบร็กซิท กระชับความสัมพันธ์ทางศรษฐกิจการค้าและการลงทุน พร้อมร่วมมือเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 เล็งปฏิรูป WTO รับมือการค้าในศตวรรษที่ 21 พัฒนาระบบการเงิน พลังงาน และระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริม SMEs ใช้ประโยชน์จากระบบการค้าดิจิทัล
ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและรัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร (นางเอลิซาเบธ ทรัส) โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ดร. สรรเสริญ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งแรกระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) หลังจากยูเคออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยได้หารือประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ และเห็นพ้องจะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย อาทิ การศึกษาวิเคราะห์และเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างอาเซียน-ยูเค ให้ใกล้ชิดขึ้น การปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าในศตวรรษที่ 21 และการส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ได้ใช้ประโยชน์จากระบบการค้าดิจิทัล การพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน (green financial system) การเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ ซึ่งยูเคแสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนอย่างเต็มที่
สำหรับ ในปี 2562 ยูเคเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของอาเซียน การค้าระหว่างอาเซียนและยูเค มีมูลค่า 37.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.3 ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน สินค้าส่งออกที่สำคัญของอาเซียนไปยังยูเค เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเสื้อผ้า เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญของอาเซียนจากยูเค เช่น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ สารเคมีอินทรีย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ยูเคเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับยูเค มีมูลค่า 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเค มูลค่า 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเค มูลค่า 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น
รัฐมนตรี RCEP ถกเข้มผ่านทางไกล ย้ำความตั้งใจลงนามความตกลงปีนี้ พร้อมเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19
รัฐมนตรี RCEP ร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ได้ข้อสรุปการเจรจาประเด็นคงค้างสำคัญและแผนการดำเนินงานทั้งหมด เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พร้อมลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอด RCEP ครั้งที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ยัน! ไม่ปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลง
ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับรัฐมนตรีของสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์
ดร. สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า หลังจากที่ RCEP มีการเจรจาในประเด็นคงค้างจากปีที่แล้วอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ในการประชุมรอบนี้ทุกประเทศสามารถได้ข้อสรุปการเจรจาประเด็นคงค้างทั้งหมดโดยรัฐมนตรียืนยันพร้อมลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอด RCEP ครั้งที่ 4 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมยินดีต้อนรับอินเดียหากกลับเข้าร่วมความตกลง เนื่องจากอินเดียเป็นสมาชิกสำคัญที่เข้าร่วมเจรจาตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อปี 2555 และเชื่อว่าการเข้าร่วมของอินเดียจะช่วยสร้างความเติบโตให้กับภูมิภาค
“รัฐมนตรี RCEP เห็นความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเปิดตลาดให้มีการไหลเวียนของสินค้าและบริการที่จำเป็นระหว่างกัน รวมถึงเร่งสร้างความร่วมมือในภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งการลงนามความตกลง RCEP จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ และส่งเสริมระบบกฎเกณฑ์การค้าแบบพหุภาคี และมั่นใจว่าจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ” ดร. สรรเสริญ เสริม
ความตกลง RCEP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ (สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก โดยในปี 2562 ประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่า GDP กว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก
ทั้งนี้ การค้าและการลงทุนของไทยกว่าครึ่งพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ของสมาชิก RCEP ซึ่งไทยกับประเทศสมาชิก RCEP 16 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59.5% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย และไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP กว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57% ของการส่งออกของไทยไปโลก
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ