- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 23 August 2020 10:51
- Hits: 4576
จุรินทร์ ลุยปั้นเด็ก Gen Z เป็น CEO ทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ตั้งเป้า 12,000 ราย
จุรินทร์ เดินหน้าปั้นเด็ก Gen Z ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็น CEO ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้ 12,000 คน เพื่อเข้ามาช่วยเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าของไทย ทั้งในประเทศและส่งออก ชี้วันนี้โลกเปลี่ยน การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม การผลิตสินค้าและบริการ ต้องเน้นยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ส่วนช่องทางขายต้องมุ่งสู่ออนไลน์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานกล่าวกับนักศึกษาใน 7 มหาวิทยาลัยภาคเหนือ จำนวน 1,500 คน ที่เข้าร่วมโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ “From Gen Z to CEO” ผ่านการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Zoom conference ว่า โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน มีเป้าหมายอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากเป็นซีอีโอ เพราะปัจจุบันมีหลายคนไม่อยากทำงานบริษัท ไม่อยากเข้าไปอยู่ในองค์กร อยากเป็นนายตัวเอง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็เลยจัดทำโครงการขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการ
“กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มต้นที่ 7 สถาบันการศึกษาในภาคเหนือ มีนักศึกษาเข้าร่วม 1,500 คน ถัดจากนี้ไป กระทรวงพาณิชย์จะสร้างซีอีโอเจนซีให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยทำกับทุกภาค ทุกสถาบันการศึกษา ตั้งเป้าเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 คน รวมแล้ว 12,000 คน เพื่อให้ซีอีโอเจนซีเป็นทัพหน้าให้กับการค้าและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย นำรายได้เข้าประเทศและทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนต่อไป”
นายจุรินทร์ กล่าวว่า มีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ วันนี้โลกเปลี่ยน และเปลี่ยนหลายตลบ วันข้างหน้าอาจจะมีอะไรเปลี่ยนไปอีก อย่างน้อยที่สุดปัจจัยสำคัญที่เราเห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยน คือ 1.สถานการณ์โควิด-19 2.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว 3.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และ 4.มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ หากเข้าใจ ก็จะเตรียมการรับมือได้
สำหรับ ซีอีโอเจนซี จะต้องรู้ว่าเราอยู่ในสถานการณ์ไหนของโลก เมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับตัว หัวใจสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยต้องทำ 2 ข้อ คือ 1.ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิต ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาคผลิตภัณฑ์หรือภาคบริการ โดยใช้ “ตลาดนำการผลิต” เพราะนี่คือหัวใจสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัว 2.ปรับรูปแบบทางการค้าจากรูปแบบออฟไลน์ดั้งเดิม เป็นการค้าออนไลน์ ทั้งออนไลน์ในประเทศและออนไลน์ระหว่างประเทศ
“วันนี้จะทำการค้าแบบดั่งเดิม ขายในตลาดนัด ขายในห้าง หรือจะหิ้วกระเป๋า นำเอกสาร จะข้ามน้ำ ข้ามแผ่นดินไปขาย มันไม่ได้แล้ว อยากจะไปขายจีน ไปแล้วเขาไม่ให้เข้า หรือเข้าได้ กลับมาต้องกักตัว 14 วัน มีปัญหาอุปสรรค เพราะโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตาม การค้าออนไลน์จึงเป็นคำตอบในยุคปัจจุบัน ต้องเร่งปรับปรุง ต้องเร่งพัฒนา จึงเป็นที่มาของโครงการผลักดันเจนซีเป็นซีอีโอ ที่ได้นำผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์มาช่วยสอน มาช่วยวิเคราะห์ทิศทางการค้า ช่วยโอกาสในการเข้าสู่ตลาด เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เป็นซีอีโอ”นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ เช่น ฟังประสบการจริงจากผู้ส่งออก การวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ การทำแบรนด์ การทำตลาด ต้องทำยังไง การเจาะลึกบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น อาลีบาบา หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง Tmall , amazon , bigbasket.com , jatujakmall , Thailandpostmart.com และ Cloudmall เป็นต้น โดยจะลงลึกไปดูว่าเขามีระบบการบริหารจัดการยังไง เพื่อที่จะตามเหตุการณ์ได้ทัน รวมไปถึงระบบการขนส่งโลจิสติกส์ ในรูปแบบต่างๆ จะส่งวิธีไหน ส่งยังไง หรือขายไปต่างประเทศจะส่งยังไง และสอนถึงวิธีการโพสต์ขายสินค้า การทำโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะต้องเรียน เพราะถ้าไม่โดดเด่น โอกาสขายก็จะน้อยลง
ปัจจุบันเจนซีทั้งประเทศมีประมาณ 12.6 ล้านคน เป็นเด็กต่างจังหวัด 10.6 ล้านคน คิดเป็น 85% กระทรวงพาณิชย์จึงได้มุ่งทำโครงการโดยลงลึกถึงระดับจังหวัดให้มากขึ้น เพื่อช่วยเด็กในต่างจังหวัดให้มีโอกาสเป็นซีอีโอ โดยโครงการที่เริ่มในภาคเหนือ ได้ทำร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ