WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คนไทยแห่กินผลไม้นอก 8 เดือนยอดนำเข้าทะลัก 1.7 หมื่นล้าน

    แนวหน้า : รายงานข่าวจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 8 เดือน(ม.ค.- ส.ค.) ว่า ไทยนำเข้ากลุ่มผลไม้มูลค่า 17,994.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.79 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าแอปเปิ้ลสดจากประเทศจีนมากกว่า 50 % ที่เหลือนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์, องุ่นสดนำเข้าจากจีน เปรู อินเดีย ออสเตรเลีย, ส้มนำเข้าจากจีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยคนไทยมีแนวโน้มบริโภคผลไม้นำเข้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากราคาผลไม้จากต่างประเทศลดลงจากอดีตมาก และสามารถซื้อได้ทั่วไป ส่งผลให้ผลไม้ในประเทศเองมีคู่แข่ง และประสบปัญหาล้นตลาดในบางช่วงที่ผลผลิตออกมามากอย่างต่อเนื่อง

   สำหรับ ภาพรวมการนำเข้าวัตถุดิบ และอาหารของไทยมีมูลค่ารวม 322,104.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.12 % มีปริมาณนำเข้า 11.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 29.60 % เฉพาะเดือนส.ค. มีมูลค่านำเข้า 45,140.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.83% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อแปรรูป โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีมูลค่ามากที่สุดถึง 73,105.73 ล้านบาท คิดเป็น 22.70% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ปลาโอทองแถบ (สกิปแจ็คแช่แข็ง) ปลาทะเลอื่นๆแช่แข็ง ทูน่าครีบเหลืองแช่แข็ง อัลบาคอร์แช่แข็ง และหมึกแช่แข็ง รองลงมา คือ กากของเหลือจากการผลิตน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ 19.43% เมล็ดถั่วเหลืองเพื่อการผลิตน้ำมันพืชและอาหารสัตว์ 10.01%  นมผงสำหรับทารก 9.03% และกลุ่มข้าวสาลี

   ส่วนมูลค่าส่งออกอาหาร 8 เดือนอยู่ที่ 695,583.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.48% ปริมาณส่งออก 24.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.10 % เดือนส.ค.มีมูลค่าส่งออก 110,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.83% โดยการส่งออก 8 เดือน เนื้อไก่แปรรูป เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 50,189.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.92 เนื่องจากญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมานำเข้าไก่สดจากไทย

    สำหรับ ภาวะการค้าอาหารไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน ที่จะร่วมกันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในช่วง 8 เดือน ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารไปยังอาเซียน 5.79 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.83 % มูลค่า 151,649.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.83 % ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากสมาชิกอาเซียนทั้งสิ้น 1.66 ล้านตัน มูลค่า 51,785.44 ล้านบาท ไทยอยู่ในฐานะเกินดุลการค้าอาหารกับอาเซียน โดยสินค้าส่งออก คือ น้ำตาลจากอ้อย มีสัดส่วน 11.4 % ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในช่วง 8 เดือนของปีนี้ มีมูลค่า 17,271.62 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 1.347 ล้านตัน โดยตลาดหลัก คือ อินโดนีเซีย มีสัดส่วน 80% ของมูลค่าส่งออกสินค้าชนิดนี้ในอาเซียน

    ด้านสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับ 2 คือ เครื่องดื่มที่ไม่อัดลมพร้อมสำหรับบริโภคทันทีโดยไม่ต้องเจือจาง เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงเช่นกัน ตลาดหลัก คือ เวียดนาม และเมียนมาร์ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดี รสชาติอร่อย และราคาแข่งขันได้ และข้าวหอมมะลิของไทย เป็นที่ต้องการสำหรับตลาดบนอย่างสิงคโปร์ และบรูไน มีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงเช่นกัน

    อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในตลาดอาเซียน จะพบว่า ช่วงนี้ที่อุตสาหกรรมอาหารในประเทศสมาชิกใหม่อย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปจากไทยอยู่ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหาแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในด้านอุตสาหกรรมอาหารไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ต่างก็ขยายการลงทุนเข้าสู่ทั้ง 4 ประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความพร้อมด้านการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหาร ดังนั้นหากไทยไม่มองลู่ทางในระยะยาว อาจจะเสียโอกาสในอนาคต

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!