WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1abAB565384

ส่งออกมิ.ย.โดนพิษโควิด-19 ฉุด ติดลบ 23.17% ลดลงมากสุดในรอบ 131 เดือน

     พาณิชย์ เผยส่งออกเดือนมิ.ย. มูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 23.17% ลดลงมากสุดในรอบ 131 เดือน เหตุได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงกดดันหนัก ทำยอดส่งออกสินค้าลดลง ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหาร สินค้าใช้ทำงานที่บ้าน และป้องกันโรค ที่ส่งออกได้ดีขึ้น ย้ำส่งออกน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว กำลังฟื้นตัวดีขึ้น หากไม่เจอระบาดรอบ 2 คาดทั้งปี อาจจะติดลบ 8% ถึงลบ 9% 

        น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.2563 มีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 23.17% ถือเป็นการขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือนนับจากก.ค.2552 การนำเข้ามีมูลค่า 14,833.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.05% เกินดุลการค้า มูลค่า 1,610.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดรวม 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 114,343 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.09% การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.62% เกินดุลการค้ามูลค่า 10,701 ล้านเหรียญสหรัฐ

       ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลง ยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลก และกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศ รวมทั้งไทย และยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบ 2 อาจทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย ที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงส่งออกลดลง และค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

     ส่วนสินค้าส่งออกยังคงหดตัว โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ จากความต้องการที่หดตัว เพราะผู้บริโภคมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าที่จำเป็นมากกว่า เม็ดพลาสติก ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน แต่อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหาร เป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหารทะเล ไก่สด สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวมถึงสินค้าที่ป้องกันเชื้อโรค เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

       ทางด้านตลาดส่งออก ลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นสหรัฐฯ กับจีน ที่กลับมาส่งออกเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 14.5% และ 12% ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่น ลด 21.6% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 22.7% อาเซียน (5 ประเทศ) ลด 38.8% CLMV ลด 17.8% อินเดีย ลด 63.1% ฮ่องกง ลด 32.3% เกาหลีใต้ ลด 22% ไต้หวัน ลด 13.3% ทวีปออสเตรเลีย ลด 22.7% ตะวันออกกลาง ลด 10.45 แอฟริกา ลด 37.7% ลาตินอเมริกา ลด 41.8% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 23.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 27.4% แคนาดา ลด 6.7% สวิสเซอร์แลนด์ ลด 92%

        น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ก.ค.-ธ.ค.) มีสัญญาณดีขึ้น โดยมองว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัว อย่างล่าสุด จีนก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สหภาพยุโรป (อียู) ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ตลาดสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่การขนส่งสินค้ามีความคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมที่มีปัญหาติดขัดจากการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะไทยกับเพื่อนบ้าน

        ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกทั้งปีของไทย คาดว่า จะส่งออกได้มูลค่าสูงกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเมินว่าทั้งปีน่าจะติดลบมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่ลบ 6% อาจจะขยับไปติดลบ 8% หรือลบ 9% ซึ่งหากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะติดลบ 8% แต่ถ้าส่งออกได้มากกว่านี้ การติดลบก็จะน้อยลง หากจะให้เป็นบวกต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 21,988 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมิถุนายน 2563 และครึ่งแรกของปี 2563

     ในเดือนมิถุนายน 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐาน และปลอดภัย โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวในระดับสูงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากสามารถส่งออกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563

    นอกจากนี้ สินค้าข้าวพรีเมียมยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวขาว 100% อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ไทยมีปริมาณการส่งออกลดลง

     สำหรับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่ขยายตัวยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (โซลาร์เซลล์) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง

      อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในหลายประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง ได้แก่ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) ที่มีการหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในต่างประเทศยังคงมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าจำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง ในขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัวตามความต้องการใช้น้ำมันที่ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยังคงหดตัวตามทิศทางน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลก

      สรุปภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 23.17 ขณะที่การส่งออกครึ่งปีแรก (มกราคม–มิถุนายน) ของไทยหดตัวร้อยละ 7.09 อย่างไรก็ดี ในแง่รายตลาด การส่งออกยังขยายตัวได้ในหลายประเทศ ได้แก่ จีน (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) สหรัฐฯ ทวีปยุโรป (ไอร์แลนด์ โปแลนด์ เดนมาร์ก) และตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

 

มูลค่าการค้ารวม

        มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 16,444.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 23.17 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 14,833.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 18.05 การค้าเกินดุล 1,610.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 114,342.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.09 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 103,642.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 12.62 ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 10,700.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท

        เดือนมิถุนายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 520,608.01 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 23.06 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 475,986.98 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 17.94 การค้าเกินดุล 44,621.03 ล้านบาท ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 3,562,327.91 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.29 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 3,269,175.68 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.94 ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 293,152.23 ล้านบาท

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563

          การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังคงมีความท้าทาย โดยมีปัจจัยกดดันการส่งออก ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดรอบสอง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ-จีน และจีน-อินเดีย สร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา

      ในขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การขนส่งสินค้าที่คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญๆ ให้สามารถทำการขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งขณะนี้การขนส่งสินค้าชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมดแล้ว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัว ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไปจีนจะยังคงสามารถขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในขณะเดียวกัน ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ

     สำหรับ การส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs (SMES PRO-ACTIVE PROGRAM) เพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งโครงการฯ ยังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งในด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมปกติของกระทรวงพาณิชย์

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!