- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 21 October 2014 21:52
- Hits: 2641
รัฐจับตาดึงชาวบ้านลงขันตั้งบริษัทรับเหมา หวั่นเป็นแชร์ลูกโซ่หลอกดูดเงิน
แนวหน้า : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยเดือนกันยายนยอดบริษัทตั้งใหม่ 17% เพิ่มสูงสุดในรอบปี คาดทั้งปีทะลุ 60,000 ราย พร้อมจับตาธุรกิจแชร์ลูกโซ่มาแนวใหม่ ระบาดแถวภาคเหนือ ชวนชาวบ้านลงขันตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง อ้างจ่ายมากได้ส่วนแบ่งมาก
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยถึงสถิติการจดทะเบียนธุรกิจว่า เดือนกันยายนมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุดในรอบปี2557มีทั้งสิ้น 6,079 รายเพิ่มขึ้น 875 รายคิดเป็น 17% จากเดือนสิงหาคมและเพิ่มขึ้น 457 ราย คิดเป็น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีทุนจดทะเบียน 30,111 ล้านบาทประเภทธุรกิจที่จัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 712 ราย อสังหาริมทรัพย์ 331 ราย ภัตตาคาร ร้านอาหาร 154 รายขายส่งเครื่องจักร 141 รายและจัดนำเที่ยว 115 ราย ตามลำดับ
สำหรับ นิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2557 มี 1,643 รายเพิ่มขึ้น 407 ราย คิดเป็น 33% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเพิ่มขึ้น 193 ราย คิดเป็น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการธุรกิจการค้าสลากที่งดให้โควตา ทำให้ผู้ค้าจดเลิกสูงถึง 600 กว่าราย ส่งผลให้ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัด ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 589,840 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 14.87 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 408,924 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,065 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,851 ราย
“ในไตรมาสที่ 3/2557 นี้มีจำนวน 16,875 รายซึ่งเป็นการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงกว่าในทุกไตรมาสที่ผ่านมา คาดว่าจะสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีเชื่อว่าการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั้งปีจะถึง 60,000 รายแน่นอนในส่วนของการทำงานการจดทะเบียนของกรมฯ นั้น มีความรวดเร็วอยู่แล้วแต่หลังจากนี้จะเน้นคุณภาพมากขึ้นด้วย”
กรมฯจะเข้มงวดและตรวจสอบกลุ่มธุรกิจที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะที่อาจเข้าข่ายผิดปกติ เช่นการจดทะเบียนธุรกิจขายตรง ซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมาก บางพื้นที่ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่ผิดปกติเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ โดยจะมีขั้นตอนที่เข้มงวดขึ้นและต้องขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ก่อนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงของผู้ถือหุ้นทุกคน มีสถานที่ตั้งชัดเจน หากมีการขอจดทะเบียนขายตรงรายใหม่,ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่อาจมีความเสี่ยงการเป็นนอมินีผิดกฎหมาย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ยังได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกัน รวมถึงกลุ่มธุรกิจงาช้างที่ต้องเร่งให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนการค้าให้ถูกต้องตามข้อบังคับของไซเตส(อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์)
ขณะเดียวกันนี้ มีเหตุการณ์การจดทะเบียนในข่ายแชร์ลูกโซ่และขายตรงอยู่มากซึ่งกรมฯ ได้รับแจ้งความผิดปกติ และอยู่ระหว่างการติดตามคือที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน มีการชักชวนชาวบ้านเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มอย่างน่าสงสัย โดยเป็นการชักชวนจากผู้เริ่มต้น 4 ราย ให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมลงทุนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ล่าสุดเพิ่มผู้จดทะเบียนเป็น 120 ราย ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังว่าจะเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรืออาจหลอกลวงให้ชาวบ้านนำเงินมาลงทุนในลักษณะเครือข่ายโดยให้เหตุผลว่าถ้าลงทุนมาก ก็จะได้รับส่วนแบ่งมาก
“มีการชักจูงชาวบ้านให้มาลงทุนเป็นเจ้าของธุรกิจจากการที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเอง ซึ่งอยู่ในข่ายน่าสงสัยว่าจะหลอกลวงภายหลัง กรมฯ ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอให้เข้าไปตรวจสอบ สอดส่องดูแล และแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าหลังจากจดทะเบียนธุรกิจแล้วต้องมีการจัดทำบัญชี ส่งงบเงินการตามกฎหมาย หากไม่ทำก็จะมีความผิด หากว่าชาวบ้านคนใดไม่ต้องการประกอบธุรกิจ ก็แจ้งขอยกเลิกการจดทะเบียนธุรกิจได้”
นอกจากนี้ กรมฯ ยังส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ต ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ แม่ข่ายบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 11,006 ราย 12,626 เว็บไซด์ ซึ่งการจดทะเบียนจะสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ
นอกจากนี้ กรมฯยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ