WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaEX 3

เงินเฟ้อมิ.ย.ติดลบน้อยลง 1.57% เหตุน้ำมันเป็นตัวฉุด มาตรการลดราคาสินค้ายังอยู่

     พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.63 ลดลง 1.57% ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยลบในอัตราที่น้อยลง เหตุมาตรการของรัฐ ที่ปรับลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา สิ้นสุดลง ราคาสินค้าบางส่วนปรับสูงขึ้น แต่ยังมีแรงฉุดจากน้ำมัน อาหารสดที่ลดลง และมาตรการลดราคาสินค้า ย้ำไม่มีภาวะเงินฝืด สินค้ายังเคลื่อนไหวปกติ คาดครึ่งปีหลัง ยังอยู่ในแดนลบ เหตุประชาชนระวังจับจ่ายใช้สอยจากผลกระทบโควิด-19 ปรับคาดการณ์ทั้งปีใหม่เป็นลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางลบ 1.1%

      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิ.ย.2563 ลดลง 1.57% ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพ.ค.2563 ที่ลดลง 3.44% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงในอัตราที่น้อยลง มาจากมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาสิ้นสุดลง และราคาสินค้าส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เงินเฟ้อก็ยังได้รับแรงฉุดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้เงินเฟ้อยังคงติดลบ ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลง 1.13%

      “เงินเฟ้อขยายตัวติดลบ 1.57% ทางเทคนิคเป็นเงินฝืด เพราะติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว แต่จริงๆ ไม่ได้ฝืด เพราะราคาสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวเป็นปกติ หลายๆ รายการมีการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ฝืดเคือง ข้าวของ มีกิน มีใช้ ส่วนที่เงินเฟ้อลดลง เพราะมีปัจจัยตัวอื่นมาฉุด ทั้งน้ำมัน มาตรการพาณิชย์ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตลดราคาสินค้า ที่ยังคงอยู่ ทำให้เงินเฟ้อไม่ขึ้น”

        อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก ลดลง 0.05% ถือว่าติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน แต่ก็ไม่น่ากังวล ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

      สำหรับ สถานการณ์สินค้าในเดือนมิ.ย.2563 สินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 2.53% เช่น น้ำมันลด 16.14% เคหสถาน ลด 1.70% การสื่อสาร ลด 0.04% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.29% เครื่องนุ่งห่ม เพิ่ม 0.09% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.19% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.06% เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 5.52% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.40% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.95% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.78% นอกบ้าน เพิ่ม 0.42% แต่ผักสด ผลไม้ เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นมลด

      น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวดี จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีปัจจัยกดดันจากโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีการระมัดระวังมากขึ้น โดยเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในแดนลบ ทำให้ต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่ จากเดิมลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% ค่ากลางลบ 0.6% เป็นติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางลบ 1.1%

       “เงินเฟ้อแม้จะอยู่ในแดนลบ แต่จะปรับตัวดีขึ้น เพราะขณะนี้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท กำลังจะออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และจากนั้นจะเป็นงบประมาณปี 2563/64 ที่จะตามมาอีก ถือเป็น 2 ก๊อก ที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว และยังมีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐบาลกำลังพิจารณาช่วยเหลืออีก ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้น แต่ไม่อยากให้เงินเฟ้อขึ้นเร็วเกินไป เพราะยังมีโควิด-19 ประชาชนจะกระทบ แต่ถ้าไม่ขึ้นเลย ผู้ผลิตก็กระทบ ขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปดีกว่า”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

 

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2563

ภาพรวม

                ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.57 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 3.44 ในเดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการบางส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาได้สิ้นสุดลง รวมทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารสด แม้ยังลดลงต่อเนื่อง แต่ลดลงในอัตราที่น้อยลง ขณะที่สินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ 0.05 (YoY) เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.13 (AoA) และ เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น ร้อยละ 0.32 (AoA)

                การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกจำกัดในช่วงก่อนหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งการค้าปลีก การคมนาคม-ขนส่ง และการท่องเที่ยว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไป

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายน 2563

            ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.57 (YoY) โดยสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 2.53 จากการลดลงของ

                หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 5.06 โดยน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 16.14 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด) ซึ่งหดตัวน้อยลงจากเดือนที่ผ่านมาที่ลดลงร้อยละ 27.97 ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มพลังงานในเดือนนี้ลดลงร้อยละ 11.89

                หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 1.70 จากมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาบางส่วนที่ยังคงอยู่

                หมวดการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.04 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ)

                หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.29 (ค่าทัศนาจรใน-ต่างประเทศ ค่าห้องพักโรงแรม)

                ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (เสื้อเชิ้ต/เสื้อยืดบุรุษ กางเกงขายาวบุรุษ)

                หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (น้ำยาระงับกลิ่นกาย ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างอำเภอ ค่าโดยสารเครื่องบิน)

                ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

                สำหรับ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 5.52 (ข้าวสารเหนียว) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.40 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.95 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.78 และ 0.42 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ขณะที่สินค้าบางตัวราคาลดลง อาทิ ผักสด (พริกสด มะนาว มะเขือเทศ) ผลไม้ (เงาะ ส้มเขียวหวาน มะม่วง) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ไก่ย่าง กุ้งขาว ไก่สด ปลานิล ปลากะพง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด)

                ดัชนี ราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 1.56 (MoM) ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.67 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 2.11 (QoQ) และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.13 (AoA)

                ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.1 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ  4.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยลดลงในอัตราที่น้อยลงในทุกหมวดสินค้า ตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคการผลิตอาจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

                โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 ตามการลดลงของกลุ่มผลผลิตการเกษตร (หัวมันสำปะหลัง ยางพารา) พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) ผลไม้ (มะม่วง มังคุด ส้มเขียวหวาน) และกลุ่มสัตว์มีชีวิต (สุกรมีชีวิต ไข่) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า/เหนียว อ้อย ปลาน้ำจืด/ทะเล ปริมาณผลผลิตน้อยลงจากสภาพอากาศแปรปรวนและภัยแล้ง ผลปาล์มสด จากมาตรการของภาครัฐ และไก่มีชีวิต ความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสินค้าที่ลดลงตามตลาดโลก และวัตถุดิบ ได้แก่

       หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 19.2 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ

        หมวดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.8 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายไฟ สายเคเบิล) และกลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย)

        ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (MoM) ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.1 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 2.5 (QoQ) และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.3 (AoA)

       ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.9 (YoY) ลดลงต่อเนื่องในอัตราที่น้อยลงเป็นเดือนที่ 2 (เดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 3.8) ตามความต้องการใช้ ต้นทุน และการแข่งขันที่สูง

        โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.5 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก) สอดคล้องกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัว

         หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา) จากการค้าชะลอตัวและการแข่งขันสูง

                หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.3 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป) สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัวเช่นกัน

                ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องแกรนิต) ปรับตามต้นทุน

                หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน)

                หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (โถส้วมชักโครก อ่างล้างหน้าเซรามิก)

                หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี)

                ส่วนหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง

                ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.6 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 1.3 (QoQ) และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.9 (AoA)

         ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวสูงขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 42.5 จากระดับ 38.1 ในเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน สูงขึ้นจากระดับ 32.0 มาอยู่ที่ระดับ 36.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต สูงขึ้นจากระดับ 42.1 มาอยู่ที่ระดับ 46.9 เป็นการสูงขึ้นในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนนี้ คาดว่ามาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลายในทางที่ดี ทำให้ประชาชนเริ่มคลายความกังวล รวมทั้งภาครัฐได้ยกเลิกประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน และการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจเริ่มเข้ากลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 3 ปี 2563

         อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2563 น่าจะเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดของปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ COVID-19 ที่น่าจะเริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าไตรมาสที่ 2 จากข้อตกลงของกลุ่ม OPEC ขณะที่ภัยแล้งยังคงเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด

        อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติที่ยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มต่ำกว่าศูนย์ และเฉลี่ยทั้งปีหดตัว โดย กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิมร้อยละ -1.0 ถึง -0.2 (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6) เป็นร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ –1.1)

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!