- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 20 October 2014 23:48
- Hits: 2791
พณ.-เอกชนหาทางออกราคายาง
บ้านเมือง : พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มไปจัดแบ่งกลุ่มสินค้า (คลัสเตอร์) และนำข้อเสนอมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในรอบต่อไปประมาณสัปดาห์หน้า และจะจัดประชุมหารือในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกและการผลิตยางพารา ซึ่งภาครัฐจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้ ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมาย และหากเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดก็จะเชิญมาหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น ถุงมือยางมีประเด็นที่ต้องหารือกับองค์การอาหารและยา (อย.) ก็จะเชิญมาหารือในกลุ่มคลัสเตอร์ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราด้วย
ด้านนายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเซมเพอร์เมด ในกลุ่มศรีตรัง (STA) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ในไทย และมียอดส่งออกถุงมือยางติด 1 ใน 5 ของตลาดโลก แต่บริษัทจะมีแนวทางการช่วยเหลือคือ เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพารามาผลิตสินค้าจาก 50% เป็น 60% ส่วนอีก 40% เป็นการผลิตสินค้าจากยางสังเคราะห์ เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะทำให้ปีนี้เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตสินค้าจาก 60,000-70,000 ตัน มาเป็น 100,000 ตัน และเชื่อว่าน่าจะทำให้ราคารับซื้อยางในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยราคารับซื้อยาง 60 บาท/กก. น่าจะเป็นระดับที่ภาครัฐและเกษตรกรพอใจ
ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ทำโรดแม็พเสนอต่อรัฐบาลแล้ว โดยวางเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจากปัจจุบัน 600,000 ล้านบาท ให้ถึง 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 63 ส่วนแผนรักษาเสถียรภาพราคายางพารานั้น ได้เสนอให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ด้วยการตั้งหน่วยวิจัยยางพาราแปรรูปกลาง เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ เพราะปัจจุบันไทยใช้ยางพาราเพื่อการแปรรูปเพียง 12.5% ของกำลังผลิตรวม อีก 87.5% ยังเป็นการพึ่งพาการส่งออก
"ได้เสนอให้เพิ่มแรงจูงใจให้เอกชน โดยลดภาษีการดำเนินการเพื่อการวิจัยจากเดิม 200% เป็น 300% และปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าจะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที 100,000 ตัน สัปดาห์หน้าจะหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดนำเสนอรัฐบาลต่อไป"
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มั่นใจว่าราคายางในตลาดโลกจะไม่ลดต่ำลงไปกว่านี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาราคาพุ่งสูงผิดปกติ เนื่องจากหลายประเทศมีความกังวลว่า ความต้องการใช้ยางจะสูงขึ้น ทำให้พากันซื้อเก็บเข้าสต๊อก และเมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติราคายางก็เริ่มลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่แนวโน้มความต้องการใช้ยางในอนาคตจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ผลักดันให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และชนชั้นกลางหันกลับมาบริโภคมากขึ้น
พาณิชย์ ถกผู้ประกอบการยาง เตรียมดันยอดใช้ในประเทศ
แนวหน้า : พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สมาคมยางพาราไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา(วัตถุดิบ) และผู้ประกอบอุตสาหกรรมถุงมือยาง เกี่ยวกับการผลักดันการใช้ยาพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งในและนอกประเทศ
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยภาหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการยางพาราของไทย ว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการสนับสนุนส่งเสริม ขับเคลื่อนการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราไปต่างประเทศ และการขับเคลื่อนให้มีการใช้ในประเทศมากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการยางรถยนต์ กลุ่มผู้ประกอบการไม้ยางพารา กลุ่มผู้ประกอบการถุงมือยาง ซึ่งในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปทางกลุ่มผู้ประกอบการยางพาราในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ จะเริ่มมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อเข้าร่วมหารือถึงปัญหา แนวทางการผลักดัน กับทางหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
“วันนี้เป็นการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการยางครั้งใหญ่ครั้งแรก ซึ่งจากการหารือทางผู้ประกอบการก็มีความเข้าใจนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยส่งออกยาง และเพิ่มมูลค่าในประเทศ แต่การหารือยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการผลักดันการใช้ยาง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือกันอีก แต่จะแบ่งเจาะเป็นกลุ่มรายคลัสเตอร์ คาดว่าจะเริ่มหารือได้ในสัปดาห์หน้า”
ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ผลิต อาทิ ผู้ผลิตถุงมือยางเชื่อว่าการได้หารือกับเป็นรายกลุ่ม และลงรายละเอียดอย่างเจาะลึก ก็อาจช่วยกันหาวิธีการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อทำให้การส่งออกมีปริมาณมากขึ้นได้ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงกฎระเบียบ กฎหมายที่ควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดความสะดวก คล่องตัวในการทำธุรกิจ เช่น ถุงมือยางที่นำเข้าจะมีมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดไว้ ซึ่งในเรื่องนี้จะมีการหารือกันภายหลัง ซึ่งมองว่าเรื่องดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีการให้แต่ละกระทรวงมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน