- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 June 2020 15:51
- Hits: 5079
พิษโควิด-19 ฉุดส่งออกพ.ค.63 หดเหลือ 16,278.4 ล้านเหรียญ ต่ำสุด 4 ปี ลดหนัก 22.50%
พาณิชย์ เผยส่งออกพ.ค.63 ทำได้มูลค่า 16,278.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ลดลง 22.50% ลดมากสุดในรอบ 130 เดือน ถูกโควิด-19 กดดัน ฉุดส่งออกสินค้าวูบ เว้นเกษตร อาหาร และทองคำ ยังเติบโตได้ดี ส่วนตลาดยอดตกหมด แต่จีนพลิกบวกแรง ประเมินส่งออกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว หากไม่เจอโควิด-19 ระบาดรอบ 2 คาดยอดทั้งปีน่าจะติดลบ 5% หรือต่ำกว่า
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพ.ค.2563 มีมูลค่า 16,278.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 22.50% โดยมูลค่าลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี นับจากเม.ย.2559 ที่การส่งออกมีมูลค่า 15,609.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และอัตราขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 130 เดือน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,583.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.41% เกินดุล 2,694.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 97,898.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.71% นำเข้ามูลค่า 88,808.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.64% โดยเกินดุลการค้า 9,090.56 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น เพราะมีการกระจายไปทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ทำให้การผลิตและการบริโภคหดตัว ซึ่งต่างจากตอนน้ำท่วมที่กระทบด้านการผลิตเป็นหลัก ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว และยังได้รับผลกระทบจากการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อ แม้จะมีความต้องการสูง ขณะที่ราคาน้ำมันแม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มาก กระทบต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเงินบาทเริ่มแข็งค่า มีผลกระทบต่อการแข่งขันของสินค้าไทย
ทางด้านสินค้าส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมลดลง 27% เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 62.6% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 33.2% อัญมณีและเครื่องประดับ ลด 68.6 คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 21.3% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 22.2% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ลด 39.5% แต่ทองคำ เพิ่มสูงถึง 735.1% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไอโอด เพิ่ม 29.1% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 5% ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 2.5% เช่น ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 83.5% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 5.6% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 17% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 13% แต่ยางพารา ลด42% น้ำตาลทราย ลด 25.4% ข้าว ลด 4%
“แม้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลง แต่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ตอบโจทย์ความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ของโลก ยังคงขยายตัวได้ดี และทำให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 22.7% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 17.1% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหาร และยังทำให้รายได้กระจายลงสู่เกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับ ตลาดส่งออก ปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด โดยตลาดหลัก ลด 25.9% ส่งออกไปสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 17.3% , 24.2% และ 40% ตามลำดับ ตลาดศักยภาพสูง ลด 21.3% จากการลดลงของอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 27.9% CLMV ลด 28% อินเดีย ลด 76% ฮ่องกง ลด 19.3% เกาหลีใต้ ลด 32.9% ไต้หวัน ลด 24.1% แต่จีน เพิ่ม 15.3% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 36.3% จากการลดลงของทวีปออสเตรเลีย 18% ตะวันออกกลาง ลด 30.6% แอฟริกา ลด 26.1% ลาตินอเมริกา ลด 21.5% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 9% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 49.9% แคนาดา ลด 29.5% ตลาดอื่นๆ เพิ่ม 263.5% จากการเพิ่มขึ้นของสวิสเซอร์แลนด์ 433%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทย แม้จะติดลบมาก แต่ก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ และน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดว่าความต้องการสินค้าของประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในเดือนต่อๆ ไป แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หรือไม่ และยังมีปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ยังไม่คล่องตัว โดยหากการส่งออกจากนี้ไป ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 1.7-1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 5% แต่ถ้าทำได้มากกว่าการติดลบก็จะน้อยลง
ส่วนข้อเสนอแนะ ไทยต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโควิด-19 ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร และต้องรีบเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของสินค้ากลุ่มนี้ , ต้องหาทางประคับประคองผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกเอาไว้ให้ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่ต้องเข้าถึงและยืดหยุ่นกว่านี้ , ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ให้กับผู้ส่งออก เช่น จับคู่สายการบินพาณิชย์ที่อาจจะมาใช้แทนการขนส่งทางเรือและถนนไปก่อน , ต้องเร่งขยายความเข้มแข็งของการเป็นซัปพลายเชน เช่น กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร , สนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ขายได้ เช่น อาหาร สินค้าทำงานอยู่บ้าน และไลฟ์สไตล์ และต้องประกันความเสี่ยงจากค่าเงิน โดยรัฐต้องช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2563
ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ อุปสรรคด้านการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้ยังมีความต้องการสูง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ดังเช่นการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 15.3 ซึ่งการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 โดยเห็นได้จากกระจายตัวทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรม
ในรายสินค้า สินค้าไทยยังตอบโจทย์ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารในช่วงล็อกดาวน์ของโลกได้ดี ในเดือนพฤษภาคม 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผักและผลไม้ หลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและและอุตสาหกรรมเกษตรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 22.7 จากร้อยละ 17.1 ในปีที่ผ่านมา สะท้อนโอกาสในการกระจายรายได้ลงสู่เกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากในช่วงเวลาท้าทาย
ทั้งนี้ ประเมินว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว 2) ความชะงักงันของการผลิต จากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้เริ่มคลี่คลายบ้างแล้วจากการผ่อนคลายมาตรการในหลายประเทศ 3) ระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่ยังไม่คล่องตัว และ 4) ผลกระทบด้านรายได้ของประเทศคู่ค้า (Income Effect) ซึ่งขึ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ โดยในระยะนี้ ภาครัฐควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและลดทอนผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในภาคการค้าและการส่งออก
รัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ยังมีศักยภาพและขยายตัวได้ดี โดยมี 5 แนวทาง คือ 1) สนับสนุนบริษัทส่งออกให้เข้าถึงนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อประคองธุรกิจในภาวะที่การส่งออกยังไม่แน่นอนสูง 2) ส่งเสริมการตลาดสินค้าที่มีความต้องการสูงในระยะนี้ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร 3) ตั้งเป้าหมายและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดศักยภาพและฟื้นตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 4) แก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่ปรับสูงขึ้นในระยะนี้ และ 5) บริหารความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนพฤษภาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า ,278.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 22.50 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า ,583.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 34.41 การค้าเกินดุล ,694.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 97,898.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.71 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 88,808.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 11.64 ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 9,090.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนพฤษภาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 524,584.12 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 20.91 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 443,478.95 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 33.08 การค้าเกินดุล 81,105.17 ล้านบาท ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 3,041,719.90 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.18 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 2,793,188.70 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.22 ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 248,531.2 ล้านบาท
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในทวีปเอเชียจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การระบาดในทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกไปจีนเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลกฝั่งเอเชียที่การระบาดลดลงในหลายประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยด้านรายได้ของประชาชนในแต่ละประเทศที่ลดลง ผนวกกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าคงทนที่มีราคาสูงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา
ในช่วงถัดไป มีปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออก โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยลบในสถานการณ์ที่ทุกประเทศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้นักลงทุนเลือกย้ายการลงทุนมาฝั่งเอเชียมากขึ้น
และอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และกลุ่มโอเปกพลัสร่วมกันลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องในช่วงที่เหลือของปี
สำหรับ การส่งเสริมการส่งออกปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มีมาตรการส่งเสริมทั้งตลาดออฟไลน์ ผ่านการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง โดยขยายตลาดสินค้าผักและผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับจีนเพื่อคลี่คลายปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยผ่านลาวและเวียดนามไปยังจีนตอนใต้ได้เป็นอย่างดี ด้านการส่งเสริมตลาดออนไลน์ กระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ ทั้งจีน อินเดีย อาเซียน เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา
และจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างผู้ส่งออกไทย 80 บริษัท และผู้นำเข้าต่างประเทศ 50 บริษัท โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาประเทศไทย นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดกิจกรรม Thai Fruits Golden Months ส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในเมืองต่างๆ ในจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว หนานหนิง เฉินตู ฉงชิ่ง ซีอาน เซี่ยเหมิน และคุนหมิง โดยมีแผนจะจัดกิจกรรมในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของจีน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยทันทีที่ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จะทำให้สินค้าไทยกลับเข้าสู่ตลาดได้ทันที ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูตลาดส่งออกของไทยให้มีมูลค่าทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงพาณิชย์ยังร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการ ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด สร้างโอกาสไทยทุกคน’ โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มจีดีพี และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ