- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 23 June 2020 17:31
- Hits: 798
อียูประกาศจุดยืนเร่งเจรจาเอฟทีเอคู่ค้า ส่วนไทยตั้งเป้าลงนามเป็นหุ้นส่วนภายในปี 64
อียูประกาศจุดยืนเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้า เล็งผลักดันการเจรจากับอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ให้จบปี 64 ปรับปรุงข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่กับเม็กซิโกและชิลี เดินหน้าเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย และความตกลงด้านการลงทุนกับจีน ขณะที่ตั้งเป้าลงนามเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทยภายในปี 64 เผยล่าสุดได้ศึกษาโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นเอฟทีเอไทย-อียูแล้ว คาดสรุปผลส.ค.นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่เอกสารจุดยืนของสหภาพยุโรป (อียู) ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้า ฉบับล่าสุด หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 และคณะมนตรียุโรปได้เผยแพร่เอกสารวิสัยทัศน์ของประธานคณะมนตรียุโรป ในช่วง 18 เดือนข้างหน้า โดยได้สรุปทิศทางนโยบายการค้า และความคาดหวังของอียูที่มีต่อประเทศคู่ค้า และคู่เจรจาเอฟทีเอ ที่ยังคงให้ความสำคัญกับระบบการค้าแบบเปิด เป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ มีความเป็นธรรม ความคาดหวังสูง และมีความยั่งยืน โดยต้องการใช้เอฟทีเอเป็นกลไกในการขยายการค้าและการลงทุน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันอียูได้ทำเอฟทีเอระดับสองฝ่ายกับประเทศคู่ค้าแล้ว 32 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เป็นต้น และมีแผนการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ โดยจะผลักดันการเจรจาเอฟทีเอกับอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มต้นในปี 2559 และการเจรจาเอฟทีเอกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มต้นในปี 2561 ให้สามารถสรุปผลได้ในปี 2564 ปรับปรุงความตกลงทางการค้าที่มีอยู่แล้วกับเม็กซิโกและชิลีให้ทันสมัย และเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย และความตกลงด้านการลงทุนกับจีน
สำหรับ การฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 คณะมนตรีแห่งอียูด้านการต่างประเทศได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2562 ให้กระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าให้อียูลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Co-operation Agreement) ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นความตกลงที่วางรากฐานความสัมพันธ์อียูกับไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความคาดหวังจากการเจรจาในระดับที่ใกล้เคียงกัน
โดยการเตรียมการของไทย กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตไทยศึกษา ทำการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมถึงโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ในเดือนส.ค.2563 และยังมีแผนจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเอฟทีเอที่อียูเจรจาและลงนามกับประเทศคู่ค้า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน โดยให้เสรีภาพในการสมาคมและรวมตัว การเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นระดับความคาดหวังที่สูงและท้าทาย
ในปี 2562 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ากว่า 44,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการค้า 9.2% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 23,581 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และไก่แปรรูป เป็นต้น และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 20,918 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ