- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 23 May 2020 10:37
- Hits: 5350
อานิสงค์ทองคำ ดันส่งออก เม.ย.เพิ่ม 2.12% คาดแนวโน้มยังไม่ดี แต่ทั้งปีมีลุ้นลบน้อย
พาณิชย์ เผยส่งออกเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.12% โต 2 เดือนติดต่อกัน เหตุได้อานิสงค์จากการส่งออกทองคำ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร แต่หากหักทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน และการส่งอาวุธคืนออก จะขยายตัวติดลบ 7.53% ชี้ปัจจัยกระทบหลักมาจากโควิด-19 ทำหลายประเทศล็อกดาวน์ และน้ำมันตลาดโลกลดลง คาดแนวโน้มส่งออกไตรมาส 2 ยังอยู่ในแดนลบ ลุ้นทั้งปีติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2563 มีมูลค่า 18,948.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.12% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหนุน คือ การส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่ขยายตัวสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเปลี่ยนมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และยังมีการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว เพิ่มครั้งแรกในรอบ 18 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 34.33% ส่วนอาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ยังคงขยายตัวได้ดี แต่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยังชะลอตัว รถยนต์และส่วนประกอบ ก็ชะลอตัว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ส่งออกได้ลดลง
อย่างไรก็ตาม หากหักมูลค่าสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย ซึ่งเป็นการส่งคืน การส่งออกในเดือนเม.ย.2563 จะพลิกเป็นติดลบ 7.53% ส่วนการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2563 มีมูลค่า 81,620.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.19% แต่ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยออก จะขยายตัวติดลบ 0.96%
ส่วนการนำเข้าเดือนเม.ย.2563 มีมูลค่า 16,485.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.13% และยอดรวม 4 เดือน นำเข้ารวม 75,224.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.72% โดยเดือนเม.ย.2563 เกินดุลการค้า 2,462.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4 เดือน เกินดุลการค้า 6,390 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกลดลง มาจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หลายๆ ประเทศมีการล็อกดาวน์ ทำให้ลดการนำเข้าลง และยังมีผลกระทบจากน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่งออกลดลงตามไปด้วย แต่ที่เดือนเม.ย.2563 ส่งออกเป็นบวกได้ เพราะได้รับอานิสงค์จากการส่งออกทองคำ ที่เดือนเดียวส่งออกมูลค่าสูงถึง 2,493 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1,103% และสินค้าเกษตร อาหาร ที่ยังส่งออกได้ดี แม้จะมีมูลค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม แต่ก็มีส่วนช่วยเพิ่มยอดส่งออก”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญในเดือนเม.ย.2563 ตลาดหลักเพิ่ม 7.7% จากการเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น 9.8% สหรัฐฯ เพิ่ม 34.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 28.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 4% จากการลดลงของอาเซียน 9 ประเทศ 7.4% CLMV ลด 31% จีน กลับมาเพิ่ม 9% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อินเดีย ลด 61.1% เกาหลีใต้ ลด 20.2% แต่ฮ่องกง เพิ่ม 38.2% และไต้หวัน เพิ่ม 4.1% ตลาดศักยภาพรอง ลด 28.5% จากการลดของทวีปออสเตรเลีย 29.5% ตะวันออกกลาง ลด 25.3% แอฟริกา ลด 31.8% ลาตินอเมริกา ลด 33.7% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 18.2% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 33.5% แคนาดา ลด 7.6% ส่วนตลาดอื่นๆ เพิ่ม 733.9% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 1,447%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะอยู่ในแดนติดลบ เพราะการส่งออกยังไปได้ไม่สะดวก จากการที่หลายประเทศยังมีการล็อกดาวน์ แม้บางประเทศจะเริ่มปลดล็อก ซึ่งผลกระทบยังมีอยู่ โดยเฉพาะเดือนพ.ค.2563 แต่มิ.ย.2563 ต้องดูอีกที ส่วนแนวโน้มทั้งปี ยังประเมินว่าไม่น่าจะติดลบมากเหมือนที่หลายฝ่ายมีการประเมินไว้ โดยหากส่งออกจากนี้ไป ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 20,578 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 0.5% แต่ถ้าเกิน 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 0%
“ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ มาจากการที่หลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา แต่ต้องไม่เกิดการระบาดรอบที่ 2 และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ถ้าทะลุเกิน 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังดีต่อเนื่อง รวมถึงเงินบาทอ่อน ที่จะมีส่วนช่วย และกระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออก มีมาตรการเสริมผลักดันส่งออก รวมถึงการผลักดันการค้าออนไลน์”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web