- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 03 May 2020 22:18
- Hits: 6533
เร่งขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ตั้งเป้าลงนามอาร์เซ็ปปลายปี พร้อมดึงอินเดียกลับร่วมวงเจรจา
สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ ประชุมทางไกลขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลง ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จทั้ง 20 บทภายในเดือนก.ค.นี้ ก่อนลงนามภายในสิ้นปีตามเป้า เผยยังได้เดินหน้าทำข้อเสนอดึงอินเดียกลับเข้าสู่โต๊ะการเจรจา ยืนยันพร้อมที่จะร่วมกันทางหาออกในประเด็นอ่อนไหวที่อินเดียยังมีความกังวล
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า ผู้แทนจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ได้ประชุมระดับคณะกรรมการ ครั้งที่ 29 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 20-29 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยได้หารือถึงการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงอาร์เซ็ป และจากนี้ สมาชิกจะประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้เสร็จทั้ง 20 บท ภายในเดือนก.ค.2563 เพื่อให้สมาชิกมีเวลาเตรียมการภายในประเทศให้เสร็จสิ้นทันต่อการลงนามความตกลงในสิ้นปีนี้
ส่วนการหาแนวทางให้อินเดียกลับมาเจรจาต่อ หลังจากไม่เข้าร่วมการประกาศความสำเร็จของการเจรจาเมื่อเดือนพ.ย.2562 ที่กรุงเทพฯ สมาชิก 15 ประเทศได้หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย และจะร่วมกันจัดทำเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียพิจารณากลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ป ตามที่ผู้นำและรัฐมนตรีอาร์เซ็ปได้ตกลงกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาร์เซ็ป ที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว ที่จะร่วมกันหาทางออกต่อข้อเสนอของอินเดีย และสมาชิกทั้ง 15 ประเทศยังคงยืนยันที่จะให้อินเดียกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ป โดยมุ่งหวังให้อาร์เซ็ปเป็นเวทีแห่งการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคงในภูมิภาค ที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับ เอกสารข้อเสนอที่สมาชิก 15 ประเทศจะยื่นให้อินเดีย จะระบุถึงการหาทางออกในประเด็นอ่อนไหวของอินเดียในเรื่องการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสมาชิก ซึ่งอินเดียมีความกังวลในปัญหาการขาดดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ และข้อเสนอกระบวนการหารือตามกรอบเวลา เพื่อให้ทันต่อการลงนามความตกลงในปลายปีนี้ โดยจะต้องหารือร่วมกับอินเดียในรายละเอียดต่อไป
นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ ยังประสบความสำเร็จในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปรับตารางข้อผูกพันเปิดตลาดของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน และการจัดตั้งกลไกการทำงานของอาร์เซ็ป ภายหลังรัฐมนตรีอาร์เซ็ปได้ลงนาม และความตกลงมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกทั้ง 16 ประเทศลงนามความตกลงอาร์เซ็ป และมีผลบังคับใช้ จะกลายเป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ ที่มีสมาชิกรวม 16 ประเทศ และมีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก และจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะสร้างกิจกรรมการค้าเพิ่มขึ้น
สำหรับ สินค้าไทยที่จะได้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป เช่น น้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง ข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ และจะช่วยส่งเสริมธุรกิจบริการไทย เช่น ก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น รวมทั้งยังดึงดูดการลงทุนคุณภาพให้กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น นวัตกรรมและดิจิทัล เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ และโลจิสติกส์ เป็นต้น
สมาชิก RCEP ถกเข้ม เตรียมโน้มน้าวอินเดียกลับเข้าร่วมโต๊ะเจรจา มุ่งลงนามความตกลงปลายปีนี้
กระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมระดับคณะกรรมการ RCEP ครั้งที่ 29 หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย พร้อมเตรียมยื่นข้อเสนอให้อินเดียพิจารณากลับเข้าโต๊ะเจรจา มุ่งสร้างความมั่นคงทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งเป้าขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายทั้ง 20 บท ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ก่อนลงนามความตกลงในปลายปีนี้
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP เปิดเผยว่า ผู้แทนจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ได้ร่วมการประชุมระดับคณะกรรมการ ครั้งที่ 29 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 20-29 เมษายนที่ผ่านมา โดยความสำเร็จที่สำคัญในครั้งนี้ สมาชิก RCEP ได้หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย และร่วมกันจัดทำเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียพิจารณากลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง RCEP ตามที่ผู้นำและรัฐมนตรี RCEP ได้ตกลงไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ RCEP เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้ RCEP เป็นเวทีแห่งการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคงในภูมิภาค ที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ สำหรับเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียระบุถึงการหาทางออกในประเด็นอ่อนไหวของอินเดีย ในเรื่องการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP ซึ่งอินเดียมีความกังวลในปัญหาการขาดดุลการค้ากับหลายประเทศใน RCEP และข้อเสนอกระบวนการหารือตามกรอบเวลา เพื่อให้ทันต่อการลงนามความตกลงในปลายปีนี้ โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับอินเดียในรายละเอียดต่อไป
นายรณรงค์ เสริมว่า การประชุมครั้งนี้ ยังสามารถหาข้อสรุปได้อีกหลายเรื่อง ได้แก่ 1) การปรับตารางข้อผูกพันเปิดตลาดของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน 2) การจัดตั้งกลไกการทำงานของ RCEP ภายหลังที่รัฐมนตรี RCEP ได้ลงนามในความตกลง และเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ และ 3) ความคืบหน้าของการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อเตรียมให้รัฐมนตรี RCEP ลงนามในความตกลง โดยจะมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้เสร็จทั้ง 20 บท ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อให้สมาชิกมีเวลาที่เหลือเตรียมการภายในประเทศให้เสร็จสิ้นทันต่อการลงนามความตกลงในปีนี้
“ความตกลง RCEP จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกิจกรรมการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาคในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลจึงเล็งเห็นโอกาสของไทยในการใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศทันที เมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าได้เร็วกว่าหลายประเทศนอกภูมิภาค สำหรับสินค้าไทยที่จะใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP อาทิ น้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง ข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมทั้งแผนการฟื้นฟูและส่งเสริมธุรกิจบริการไทย อาทิ ก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง พร้อมปรับกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนคุณภาพให้กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย หลังวิกฤตโควิด-19 อาทิ นวัตกรรมดิจิทัล เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ และระบบโลจิสติกส์”นายรณรงค์ กล่าวสรุป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web