- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 17 April 2020 13:46
- Hits: 2043
อุตฯ ส่งออกกล้วยไม้วอนรัฐช่วยเยียวยา พิษโควิด-19 ทำระบบหยุดชะงัก รายได้เป็นศูนย์
สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย วอนรัฐบาลช่วยเยียวยาผู้ประกอบการด่วน หลังเผชิญพิษโควิด-19 กระทบธุรกิจหยุดชะงัก ตลาดส่งออกปิด รายได้เป็นศูนย์ ขาดสภาพคล่อง
นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งทวีความรุนแรงและยาวนาน อีกทั้งยังไม่ปรากฎสัญญาณว่าการแพร่ระบาดจะมีแนวโน้มสิ้นสุดได้เมื่อไหร่นั้น ส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกดอกกล้วยไม้ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ส่งออก ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวงจรธุรกิจกล้วยไม้ทุกระดับ เริ่มอ่อนกำลัง ขาดสภาพคล่องที่จะสามารถแบกรับภาระที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้
“ทุกวันนี้ดอกกล้วยไม้ที่ออกทั้งหมด ต้องตัดทิ้งอย่างเดียว เพราะทุกอย่างหยุดหมด ผู้ผลิตทุกรายขาดรายได้กันโดยทันที เกษตรกรผู้ผลิต และผู้ส่งออกไม่สามารถพยุง และรักษาสถานภาพของธุรกิจให้ยืนหยัดต่อได้ ต้องบอกว่า เราอยู่กันไม่ได้แล้ว จึงอยากร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเยียวยาธุรกิจนี้ไม่ให้ล้ม แต่ขณะเดียวกัน เป็นการเตรียมตัวเพื่อพร้อมจะกลับคืนธุรกิจให้ประเทศไทยยังคงครองความเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจนี้ให้ได้เมื่อถึงวันที่สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม”อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยกล่าว
นายเจตน์ กล่าวด้วยว่า จากการหารือร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจ เห็นตรงกันว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือนข้างหน้านี้ อยากให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือโดยด่วน โดยทางสมาคมมีข้อเสนอแนะเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยส่วนตัวได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไว้ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา และเห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ โดยมีดังนี้
- ขอให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐทั้งหมด หยุดพักชำระหนี้ชั่วคราวแก่บริษัท และผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ และหากมีการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ ให้ยกเว้นการนำเงื่อนไขต่างๆ มาเป็นเหตุในการปฏิเสธการพิจารณาการขอกู้ใหม่ และให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงินกู้ โดยให้ระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่ต่ำกว่า 5 ปี
- ขออนุมัติเงินกู้วงเงินดอกเบี้ยต่ำ แบบไม่มีเงื่อนไขเป็นกรณีพิเศษ ให้กับบริษัทผู้ส่งออกกลัวยไม้ และเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั้งหมด วงเงินรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกรณีพิเศษช่วงวิกฤตการณ์ส่งออกไม่ได้
- ให้ยกเลิก หรือลดการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของเจ้าของกิจการ/บริษัท/ผู้ส่งออกกล้วยไม้ จากร้อยละ 4 ให้เหลือร้อยละ 1
- ลดการจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลของบริษัท/ผู้สงออกดอกกล้วยไม้ไทยจากเดิมร้อยละ 20 เหลือเป็นร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 2-5 ปี จากนั้นจึงเข้าสู่ภาวะปกติตามเดิม
- ลดการจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ในช่วงวิกฤตลงร้อยละ 50 ของการจ่ายจริง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
- ขอการสนับสนุนช่วยเหลือค่าแรงงานร้อยะ 50 ให้กับบริษัท/ผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ ที่มีประวัติการขึ้นทะเบียนนำส่งเงินกองทุนประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อที่การรักษาแรงงานไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งเป็นการลดการแพร่ระบาด และรักษาเศรษฐกิจให้คงอยู่ได้ในอนาคต
- เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ในการรองรับการเติบโตของธุรกิจการส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย จึงเห็นควรให้ภาครัฐพิจารณา ยกเลิก แก้ไขปรับปรุงมาตรการ ข้อกำหนด หรือข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออกดอกกล้วยไม้ทั้งระบบให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
- ขอยกเลิกหรือลบข้อมูลเครดิตบูโรให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก และบริษัทผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยทุกราย (ถ้ามี)
นายเจตน์ กล่าวว่า เกษตรกรและผู้ส่งออกทุกราย ต่างพยายามช่วยกันพยุง และรักษาสถานภาพของธุรกิจให้ยังคงยืนอยู่ได้ รวมทั้งมีความหวังที่จะดำเนินการธุรกิจต่อไปให้ได้ หากได้ความช่วยเหลือจากภาครัฐตามที่ได้เสนอนี้ เชื่อว่า การพลิกฟื้นของธุรกิจการส่งออกดอกกล้วยไม้ จะคืนกลับมาได้โดยเร็วภายหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านพ้น และสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทางสมาคมฯ พร้อมและยินดีและให้การสนับสนุนต่อนโยบายภาครัฐอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยประเทศนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน ยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี, สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นประเทศทีมีการแพร่กระจาย และการติดเชื้อไวรันโควิด-19 เป็นจำนวนมาก
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web