- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 16 April 2020 20:13
- Hits: 3391
กรมเจรจาฯ แนะนำเว็บไซต์ใหม่ ค้นหาข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA กว่า 300 ฉบับ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งข่าวผู้นำเข้า ผู้ส่งออกของไทย สามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ findrulesoforigin.org ค้นหาข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ที่มีอยู่กว่า 300 ฉบับทั่วโลกได้ ณ จุดเดียว เผยสามารถสืบค้นอัตราภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ละรายการ คาดช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย สามารถวางแผนการผลิตและส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า องค์การศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre : ITC) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) ได้ร่วมมือจัดทำเว็บไซต์ “Rules of Origin Facilitator” www.findrulesoforigin.org และได้เปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนมี.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยได้รวบรวมข้อมูลด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก ทั้งความตกลง WTO และความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับภูมิภาคและทวิภาคี รวมกว่า 300 ฉบับ หรือกว่า 70% ของความตกลงการค้าที่เสรีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไว้ ณ จุดเดียว
ทั้งนี้ เว็บไซต์ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกของไทย ให้สามารถสืบค้นอัตราภาษีศุลกากร และกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในแต่ละรายการสินค้า (ลงรายละเอียดตามพิกัดศุลกากร) ที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ เพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงได้อย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการค้าระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ยังสามารถสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีนำเข้า (Tariff Rates) กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) รูปแบบของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีการศุลกากร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ FTA ทั้ง 13 ฉบับของไทย และข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกไปประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย เช่น สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซียได้ด้วย
โดยในปี 2562 ไทยใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ FTA และ GSP รวมกันกว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ประมาณ 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ เว็บไซต์ Rules of Origin Facilitator จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน รวมถึงช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตและการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ดังกล่าว โดยสามารถสืบค้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
กรมเจรจาฯ ปลื้ม เอฟทีเอส่งไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเบอร์ 3 โลก แม้เผชิญวิกฤติโควิด-19
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ เครื่องปรุงรสไทยเป็นสินค้าดาวเด่นช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 เหตุผู้บริโภคหันมาประกอบอาหารทานเองมากขึ้น ดันยอดส่งออก 2 เดือนแรกปี 2563 แตะ 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งไทยขยับขึ้นเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเบอร์ 3 ของโลก หนุนผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอเพิ่มโอกาสและขยายตลาดต่อเนื่อง พร้อมเชียร์เจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นของไทยที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น ทำให้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกงปรุงรส ผงปรุงรส เป็นต้น ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับสถิติการส่งออกที่พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด โดยเกาหลีใต้ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 33 รองลงมา คือ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 25 และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 25 นอกจากนี้ ทำให้ไทยขยับขึ้นครองตำแหน่งผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหาร อันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 6 ในปี 2562
นางอรมน เสริมว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโต เพราะจากเอฟทีเอทั้ง 13 ฉบับ ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน มีผลให้ 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารจากไทยแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ ทำให้ในปี 2562 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารสู่ตลาดโลก เป็นมูลค่าสูงถึง 790 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ พบว่าไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,017 สำหรับการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ พบว่า ขยายตัวถึงร้อยละ 2,632 และหากแยกรายตลาด พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยตลาดอาเซียน ขยายตัวสูงที่สุดถึงร้อยละ 9,752 รองลงมา คือ จีน ขยายตัวร้อยละ 1,731 และ ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 372
“ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ และควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภค ทั้งด้านความสะดวกสบาย และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ควรเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย”นางอรมน กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web