- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 07 April 2020 23:30
- Hits: 4339
CPI น้ำมันลด 11 ครั้ง โควิด-19 ทำบริโภคชะลอตัว ฉุดเงินเฟ้อมี.ค.63 ลด 0.54% ต่ำสุด 51 เดือน
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.63 ลดลง 0.54% ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และต่ำสุดในรอบ 51 เดือน จากการลดลงของราคาน้ำมัน แค่เดือนเดียวลดถึง 11 ครั้ง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการบริโภคลดลง แต่ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด ระบุได้ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็นติดลบ 0.2% ถึงลบ 1% ค่ากลางลบ 0.6% ชี้หากกรณีเลวร้ายลบ 1% จะเป็นการติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อ เดือนมี.ค.2563 ลดลง 0.54% หรือติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 51 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.41% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและน้ำมันออก ลดลง 3.37% และเฉลี่ย 3 เดือน เพิ่มขึ้น 0.53%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.2563 ลดลง มาจากการลดลงของกลุ่มน้ำมันต่ำสุดในรอบ 48 เดือน หรือลดลง 11.14% โดยราคาน้ำมันในเดือนนี้ ปรับตัวลดลงถึง 11 ครั้ง ส่วนกลุ่มอาหารสด แม้จะยังเพิ่มขึ้น 2.46% แต่ก็เป็นอัตราต่ำสุดในรอบปี เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบริโภคยังลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน
“เงินเฟ้อที่กลับมาติดลบ สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเรื่องน้ำมันที่ลดลงเยอะมาก เลยเป็นตัวฉุดเงินเฟ้อที่สำคัญ โดยสินค้ารายการอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้น และหากดูดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักน้ำมันและอาหารออก เงินเฟ้อก็ยังเป็นบวกอยู่ แต่ความต้องการสินค้า และกำลังซื้ออาจจะชะลอตัวบ้างในช่วงโควิด-19 และไม่ได้หดตัวมากขนาดที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ทั้งนี้ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.58% มาจากการเพิ่มขึ้นของ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 7.68% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.78% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.53% ผลไม้สด เพิ่ม 2.25% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.76% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.30% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.76% นอกบ้าน เพิ่ม 0.41% ส่วนผักสด ลด 5.40% ยกเว้นมะนาวที่ราคาสูงขึ้น ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 1.74% จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 16.69% การสื่อสาร ลด 0.04% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.09% เคหสถาน เพิ่ม 0.09% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.36% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.47% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.02%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดจีดีพีเป็นติดลบ 5.8% และหน่วยงานอื่นก็มีการปรับคาดการณ์จีดีพีเป็นติดลบเกือบ 6% จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยสนค. ได้ทำการทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ใหม่ เป็นขยายตัวติดลบ 0.2 ถึงลบ 1% โดยมีค่ากลางติดลบที่ 0.6% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้สมมุติฐาน คือ จีดีพีติดลบ 4.8-5.8% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ในกรณีเลวร้าย คือเงินเฟ้อติดลบ 1% จะถือเป็นการติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง สนค.เห็นว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 เดือนแล้ว และน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ปรับลดราคาสินค้าและค่าขนส่งลงมา เพื่อดูแลผู้บริโภคและช่วยเหลือประชาชน เพราะตอนที่น้ำมันขึ้นราคา ก็มีการปรับขึ้นราคาในทันที แต่พอน้ำมันลด กลับไม่ยอมลดราคาลงตาม
สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2563
ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.54 (YoY) หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน (ลดลงร้อยละ 11.14) ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลก ระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือนนี้ นอกจากนั้น กลุ่มอาหารสด แม้จะยังขยายตัวร้อยละ 2.46 แต่เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบปี เป็นผลจากความต้องการที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว การปิดให้บริการของร้านค้า
และการปิดภาคเรียน ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล ยังทรงตัวและเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชั่นของห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม สินค้าบางรายการมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะ มะนาว ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะภัยแล้ง และไข่ไก่ ที่ปรับขึ้นตามพฤติกรรมการซื้อไข่ครั้งละจำนวนมาก เพื่อลดการเดินทางของผู้บริโภค ประกอบกับผลผลิตไข่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 0.54 (YoY) เฉลี่ยไตรมาสแรกปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.41 และ 0.53 (YoY) ตามลำดับ
สถานการณ์ในช่วงนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้นเครื่องชี้วัดต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันจะมีทิศทางสอดคล้องกับความรุนแรง และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการมีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ข้าว ไก่ และไข่ ส่งผลดีต่อเกษตรกรในกลุ่มนี้
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมีนาคม 2563
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.54 (YoY)โดยหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.74 จากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.93 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และการสื่อสาร (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ)) ขณะที่สินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถาน (ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ร้อยละ 0.09 จากการลดลงของก๊าซหุงต้ม สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (เสื้อยกทรง รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ กางเกงขายาวสตรี) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.36 (แชมพู น้ำยาระงับกลิ่นกาย ค่าแต่งผมชาย) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.47 (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา)
หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (สุรา) รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะปรับราคาสูงขึ้น (ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถสองแถว ค่าโดยสารรถตู้) ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.58 สูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ยกเว้นผักสด ที่ลดลงร้อยละ 5.40 (มะนาว กะหล่ำปลี พริกสด) ปริมาณผักสดในแหล่งเพาะปลูกสำคัญที่เร่งเพาะปลูกในช่วงที่มีน้ำ และครบช่วงเก็บเกี่ยวทำให้ปริมาณ ผักสดเข้าสู่ตลาดมาก ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ลดลงจากการหดตัวของการท่องเที่ยว การปิดสถานบริการ
และการปิดภาคเรียน สำหรับสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 7.68 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.78 (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) ผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.25 (ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า) เป็นช่วงปลายฤดูของผลไม้บางชนิด ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 2.53 (ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมสด) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.76 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.30 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.76 และ 0.41 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวแกง/ข้าวกล่อง)
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงร้อยละ 0.86 (MoM)ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.41 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.22 (QoQ)
ดัชนีราคาผู้ผลิต
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.0 (YoY) กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากที่สูงขึ้นในสองเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.5 ตามราคาในตลาดโลก ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเตา) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงพลาสติก) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ (สายไฟ สายเคเบิล แบตเตอรี่) สำหรับส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ราคาลดลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.7
ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่ ตามภาวะราคาในตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ตามการสูงขึ้นของกลุ่มผลผลิตการเกษตร (ข้าวเปลือกเหนียว มะพร้าวผล อ้อย ผลไม้) ปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง ปาล์มสด ราคาสูงขึ้นจากมาตรการภาครัฐเป็นสำคัญ สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกร/ไก่มีชีวิตและไข่ไก่) ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด เป็นต้น
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงร้อยละ 1.2 (MoM) ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.4 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (QoQ)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.9 (YoY) ยังคงลดลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.6 ตามความต้องการและต้นทุนที่ลดลง (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.6 (คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ) การค้าชะลอตัวจากปริมาณงานก่อสร้างที่ลดลง ประกอบกับการแข่งขันสูง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.8 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.7 (อลูมิเนียมแผ่นเรียบ ยางมะตอย) ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.4 (โถส้วมชักโครก กระจกเงา ฉากกั้นห้องน้ำสำเร็จรูป) ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องแกรนิต) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน-โลหะ) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 (วงกบประตู)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงร้อยละ 0.6 (MoM) ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.1 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (QoQ)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.5 จากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เป็นการลดลงของทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันที่ลดลงจากระดับ 38.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่ลดลงจากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.7 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ในเดือนนี้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งลดลงในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงสูงกว่าเดือนก่อน ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้านเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสออกมาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบในบางส่วนได้
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 2 ปี 2563
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มการลดลงของราคาพลังงานโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี โดยส่งผลทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง แม้จะส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด แต่โดยรวมน่าจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอนและส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ลดทอนความต้องการและลดกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 จะมีโอกาสลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งหลังของปี ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม ระหว่างร้อยละ 0.4 ถึง 1.2 (ค่ากลางอยู่ที่ 0.8) เป็น ระหว่างร้อยละ -1.0 ถึง -0.2 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ -0.6) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้งในระยะต่อไป
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web