- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 13 October 2014 20:06
- Hits: 2970
เงินเฟ้อขึ้นแค่จิ๊บจ๊อยพาณิชย์แจงปรับราคาแก๊สต้นทุนสินค้าไม่ระคายผิว
บ้านเมือง : 'พาณิชย์ ออกโรงแจงขึ้นแอลพีจี-เอ็นจีพีไม่กระทบต้นทุนสินค้า เหตุรถบรรทุกส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแค่ 0.0025% พร้อมปรับมาตรการดูแลสินค้าเดือน ต.ค. ดันแอลพีจีเติมรถยนต์ไว้กลุ่มอ่อนไหว ด้านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเร่งประหยัดพลังงานตามแผนอนุรักษ์ฯ 20 ปี โดยปี 57 จับมือสถาบันเหล็กฯ และ ESCO หวังลดใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเหล็ก
นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประเมินผลการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง จากกิโลกรัม (กก.) ละ 21.38 บาท เป็น กก.ละ 22 บาท และก๊าซเอ็นจีวี จาก กก.ละ 10.50 บาท เป็น กก.ละ 11.50 บาท พบว่ามีผลกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าเพียงเล็กน้อย เพราะรถบรรทุกและรถปิ๊กอัพที่บรรทุกสินค้าส่วนใหญ่ 96% ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ลิตรละ 29.99 บาท ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการขอปรับขึ้นราคาขนสินค้า เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่หากผู้ประกอบการรายใดเห็นว่าได้รับผลกระทบก็สามารถชี้แจงกับกรมฯ ได้ โดยต้องมีเหตุผลที่ดีประกอบ
ขณะเดียวกัน ในส่วนผลกระทบของการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีต่อเงินเฟ้อ คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.0025% เพราะภาคการขนส่งหลักกระทบไม่มาก โดยรถบรรทุกส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันดีเซลอยู่ ขณะที่ภาคขนส่งสาธารณะก็มีผลกระทบเพิ่มขึ้นไม่มาก เช่น รถแท็กซี่ หากวิ่ง 1 กะ หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ในระยะทางเฉลี่ย 300 กิโลเมตร ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแค่ 12-13 บาทต่อกะเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อย
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กรมการค้าภายในได้จัดอันดับบัญชีที่ติดตามดูแลสินค้า 205 รายการ โดยบัญชีติดตามสถานการณ์ราคาทุกวัน (SL) ในเดือน ต.ค.มี 12 รายการ ลดลงจากเดือน ก.ย. 1 รายการ คือ เนื้อสุกรชำแหละ ที่ลงไปอยู่บัญชีติดตามสถานการณ์ราคาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (PWL) เนื่องจากผลผลิตสุกรเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น จากสภาพอากาศที่เย็นลง ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวลดลง ส่วนสินค้า 12 รายการที่อยู่ในบัญชี SL ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซเอ็นจีวี อาหารปรุงสำเร็จ น้ำมันพืช ก๊าซแอลพีจี นมผง ปุ๋ยเคมี ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช อาหารสัตว์ ก๊าซแอลพีจีรถยนต์
ขณะที่ นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหล็กใช้พลังงานสูงมากกว่า 900 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 22,500 ล้านบาท ซึ่งการจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญอย่างมากที่ต้องลดการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิตในแต่ละโรงงาน เพื่อทำให้เป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศประสบผลสำเร็จ และจำเป็นต้องมีบุคลากร หรือบริษัทจัดการด้านพลังงาน (ESCO) ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กลดการใช้พลังงาน ลดภาระต้นทุนในการผลิต เพิ่มศักยภาพของบริษัทจัดการพลังงาน และสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ สนพ.จึงร่วมกับ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัท จัดการพลังงานไทย จัดทำโครงการ "เสริมสร้างศักยภาพบริษัทจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของประเทศไทย" ขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างบริษัทจัดการพลังงาน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในแต่ละเทคโนโลยี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 8 ล้านบาท
พาณิชย์ ชี้ ขึ้น LPG-NGV ไม่กระทบต้นทุนสินค้า
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประเมินผลการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งจากกิโลกรัม (กก.) ละ 21.38 บาท เป็นกก.ละ 22 บาท และก๊าซเอ็นจีวีจาก กก.ละ 10.50 บาท เป็น กก.ละ 11.50 บาท พบว่ามีผลกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าเพียงเล็กน้อย เพราะรถบรรทุกและรถปิ๊กอัพที่บรรทุกสินค้าส่วนใหญ่ 96% ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ลิตรละ 29.99 บาท
ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการขอปรับขึ้นราคาขนสินค้า เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่หากผู้ประกอบการรายใดเห็นว่าได้รับผลกระทบก็สามารถชี้แจงกับกรมฯ ซึ่งกรมฯจะให้ความเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย
ส่วนผลกระทบของการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีต่อเงินเฟ้อ คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.0025% เพราะภาคการขนส่งหลัก กระทบไม่มาก โดยรถบรรทุกส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันดีเซลอยู่ ขณะที่ภาคขนส่งสาธารณะก็มีผลกระทบเพิ่มขึ้นไม่มาก เช่น รถแท็กซี่ หากวิ่ง 1 กะ หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ในระยะทางเฉลี่ย 300 กิโลเมตร ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแค่ 12-13 บาทต่อกะเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
'พาณิชย์'ชี้ขึ้นแอลพีจี-เอ็นจีวี กระทบต่อเงินเฟ้อแค่ 0.0025%
แนวหน้า : “พาณิชย์”ชี้ขึ้นแอลพีจี-เอ็นจีวี กระทบต่อเงินเฟ้อแค่ 0.0025% ไม่ควรอ้างขอปรับราคาสินค้า
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมการค้าภายในได้ประเมินผลศึกษาการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง จาก 21.38 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็นราคา 22 บาทต่อกก. และก๊าซเอ็นจีวี จาก 10.50 บาทต่อกก. เป็นราคา 11.50 บาทต่อกก. ซึ่งได้รวมผลกระทบจากกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ทั้งรถแท็กซี่และรถสาธารณะแล้ว
โดยพบว่าการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 0.0025% เนื่องจากรถบรรทุกหรือรถที่ผู้ประกอบการใช้บรรทุกสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่หรือประมาณ 96% จะใช้น้ำมันดีเซลในการเดินรถ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาไว้ที่ระดับ 29.99 บาทต่อลิตร และที่สำคัญปัจจัยหลักที่มีน้ำหนักในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในกลุ่มของอาหารสดและเครื่องดื่ม, สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป และราคาพลังงาน เป็นต้น
“หากพิจารณาการวิ่งบริการผู้โดยสารของรถแท็กซี่ในระยะเวลา 1 กะ หรือประมาณ 8 ชั่วโมง (ชม.) ในระยะทางเฉลี่ยประมาณ 300 กิโลเมตร (กม.) การปรับขึ้นราคาพลังงานภาคขนส่ง จะทำให้ต้นทุนของรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 12-13 บาทต่อกะเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อย อีกอย่างหนึ่งคืออัตราค่าโดยสารของรถแท็กซี่คงที่มานานนับ 10 ปีแล้ว”นายบุณยฤทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในมองว่า การปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีภาคขนส่ง ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการขอปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการได้ แต่หากผู้ประกอบการรายใดมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของต้นทุนใดก็ตาม สามารถแจ้งหรือเสนอมายังกรมการค้าภายในได้ ซึ่งกรมการค้าภายในจะให้ความเป็นธรรมกับทุกๆฝ่ายต่อไป
โดยในเบื้องต้นขณะนี้ผู้ประกอบการรายต่างๆ ยังได้ไม่มีการยื่นเรื่องเพื่อขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามาในส่วนของรายการสินค้าที่กรมการค้าภายในติดตามดูแลอยู่ สินค้าบัญชีสินค้าอ่อนไหวเป็นพิเศษ และบัญชีสินค้าที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพิเศษแต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากการประเมินสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และจากที่กรมการค้าภายในได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ มีข้อสรุปตรงกันว่า จะไม่มีการปรับราคาสินค้าภายในปี 2557 นี้อย่างแน่นอน แม้มาตรการในการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน 2557 นี้ก็ตาม และหากมีการปรับขึ้น ก็จะถือว่าเป็นการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569