- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 26 March 2020 13:26
- Hits: 2086
จุรินทร์ ตั้งวอร์รูมเกาะติด 7 สินค้าและบริการ ดูแลให้เพียงพอความต้องการประชาชน
จุรินทร์ ถก กรอ.พาณิชย์ ตั้งวอร์รูมเกาะติด 7 กลุ่มสินค้าและบริการ เพื่อให้สินค้ามีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน และเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ขอให้แก้เรื่องการขนส่งเป็นอันดับแรก เล็งประสานคมนาคมผ่อนปรน ‘ซีพี’ยันไข่ไก่ ไก่ และหมูมีเพียงพอ เผยเจ้าสัว ‘ธนินท์’ สั่งเฉียบ ยืนราคาจำหน่ายเดิม ห้ามขึ้นราคา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ด้านสมาคมอาหารสำเร็จรูปยันบะหมี่ยังเพิ่มการผลิตได้อีก ปลากระป๋องก็เพิ่มได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ร่วมกับผู้แทนจากภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมอื่นๆ เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ ว่า ได้มีการหารือเรื่องสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกับโควิด-19 โดยได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือ ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ หรือสนับสนุนอย่างไร เพื่อที่จะให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและบริการได้อย่างทั่วถึงเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะตั้งวอร์รูมสำหรับ 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เพื่อให้ทางกระทรวงพาณิชย์และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทำงาน ประเมินสถานการณ์ และหาข้อสรุปร่วมกันในภาคส่วนของการผลิต การแปรรูป การตลาด รวมทั้งการกระจายสินค้า ซึ่งรวมถึงบริการในรูปแบบใหม่ เช่น Delivery หรือออนไลน์ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศขณะนี้ รวมทั้งให้ประเมินสถานการณ์ส่งออก และประเมินว่ามีสินค้าใดหรือไม่ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกันชนเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ หากความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น
โดยวอร์รูม 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ประกอบด้วย อาหารกระป๋อง อาหารพร้อมรับประทาน บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น 2.กลุ่มข้าว 3.กลุ่มปศุสัตว์ ประกอบด้วยไก่ ไข่ หมู กุ้ง 4.กลุ่มผลไม้
5.กลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และถั่วเหลือง 6.กลุ่มเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย และ 7.บริการ เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆ และการให้บริการ delivery ส่งอาหารถึงบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะมีการประชุมและดำเนินการให้เสร็จเพื่อให้ได้คำตอบโดยเร็วว่าต้องมีมาตรการอะไร กฎระเบียบอะไร ที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศในสถานการณ์นี้ให้ดีที่สุด
สำหรับ ปัญหาเท่าที่เห็นร่วมกันของทุกกลุ่ม คือ เรื่องของการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งเข้าสู่โรงงาน หรือขนส่งจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้าจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นปัญหาร่วมที่ต้องการให้มีการแก้ไข ซึ่งจะต้องขอให้กระทรวงคมนาคม ช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้สามารถทำได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบ และเรื่องเงื่อนเวลา ที่จะต้องปรับ เพื่อให้สามารถส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็ว
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ยืนยันว่าสินค้าปศุสัตว์ ทั้งไข่ไก่ ไก่ และหมู เป็นต้น ผลผลิตของไทยมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน อย่างไข่ไก่ ไทยผลิตไข่ไก่ได้วันละ 40 ล้านฟอง หรือปีละ 16,400 ล้านฟอง ผลผลิตถือว่าเกินความต้องการ โดยราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.70 บาท ต้นทุน 2.60 บาท ผู้ผลิตมีกำไรน้อยมาก แต่ที่ราคาขายปลีกสูงขึ้น เพราะมีพ่อค้าหน้าใหม่ไปซื้อจากแผงค้าปกติไปขายทำกำไร ส่วนตลาดส่งออก อย่างฮ่องกง ลดลงมาก มีเพียงสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหมู ผลิตได้วันละ 5 ล้านกิโลกรัม (กก.) และไก่ วันละ 9 ล้านกก. ถือว่ามีเพียงพอความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเครือซีพี ที่ดูแลการค้าส่งค้าปลีก ทั้งแม็คโคร และเซเว่นอีเลฟเว่น ยืนยันว่ามีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้สั่งการให้สินค้าที่จำหน่ายยืนราคาเดิม ห้ามปรับขึ้นราคา เพื่อช่วยเหลือประชาชน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูปไทย กล่าวว่า ในช่วงนี้ อาหารสำเร็จรูปที่ประชาชนซื้อกันมาก คือ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยผู้ผลิตยืนยันว่ายังเพิ่มการผลิตได้อีกมาก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขณะนี้ผลิตได้วันละ 10 ล้านซอง สามารถเพิ่มเป็นวันละ 15 ล้านซองได้ โดยใช้บริโภคในประเทศกว่า 80% ส่งออกกว่า 10% และปลากระป๋อง ใช้กำลังการผลิตเพียง 50-60% ยังเพิ่มได้อีก โดยวัตถุดิบที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอได้อีกหลายเดือน
นายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการห้ามและกำหนดเวลาให้รถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นใน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าสู่ห้างต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชั้นใน แต่ในภาวะที่ประชาชนต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องการให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบนี้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าได้มีการผ่อนผันแล้ว 1 เดือน แต่หากยืดเยื้อก็ขอให้ผ่อนผันออกไปอีก
จุรินทร์ เข้ม ตั้งวอร์รูมเกาะติด 7 กลุ่มสินค้าและบริการ เร่งกระจายแบบ Delivery -ออนไลน์ สนองต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ
ที่ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์)
ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมว่าวันนี้ได้เชิญประชุม กรอ.พาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนจากภาคเอกชนประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ และสมาคมอื่นๆ เช่นสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ ซึ่งวันนี้ได้มีการหารือเรื่องสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับโควิด-19 ว่าจะประเมินสถานการณ์ร่วมกันว่าอย่างไร และประเด็นสำคัญที่สุดก็คือภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์จะสามารถเข้าไป ในการช่วยเหลือแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆหรือสนับสนุนอย่างไร ทั้งในส่วนของสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่พูดถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะตั้งวอร์รูมสำหรับ 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เพื่อให้ทางกระทรวงพาณิชย์และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการประเมินสถานการณ์ร่วมกันว่าในภาคส่วนของ การผลิต การแปรรูปตลาด รวมทั้งการกระจายสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ เช่น Delivery หรือ ออนไลน์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศขณะนี้ รวมทั้งสถานการณ์ส่งออกและประเมินว่ามีสินค้าใดหรือไม่ ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการกันชนเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์หากความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจากกลุ่มที่ว่านี้ประกอบด้วย
1.อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ประกอบด้วย บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเป็นต้น
2.กลุ่มข้าว
3.กลุ่มปศุสัตว์ ประกอบด้วยไก่ ไข่ หมู กุ้งและสินค้าอื่นเป็นต้น
4.ผลไม้ซึ่งกำลังจะออกมามากในช่วงต้นเดือนหน้าที่จะถึงนี้แล้ว
5.วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นต้นทางของการผลิตไก่ หมู กุ้ง สินค้าบริโภคต่อไป ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้ประกอบด้วยมันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลืองเป็นต้น
6.เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย
7.บริการโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆและการให้บริการ delivery ส่งอาหารไปถึงบ้านเป็นต้น
ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จเพื่อให้ได้คำตอบโดยเร็วว่าต้องมีมาตรการใดๆเพิ่มเติมหรือมีสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องเป็นแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศในสถานการณ์นี้ให้ดีที่สุด
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาเท่าที่เห็นร่วมกันของทุกกลุ่มคือเรื่องของการขนส่งไม่ว่าจะเป็นการขนส่งเข้าสู่โรงงาน หรือขนส่งจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้าจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นปัญหารวมที่ต้องการให้การลำเลียงสินค้าต่างๆเป็นไปด้วยความสะดวก ซึ่งจะต้องขอให้ทางกระทรวงคมนาคมช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างเพื่อให้สามารถทำได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบอื่นๆ เรื่องเงื่อนเวลาที่จะส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากศูนย์กระจายสินค้าหรือยังมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web