- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 23 March 2020 23:08
- Hits: 6528
จุรินทร์ ชง'บิ๊กตู่'ใช้งบรัฐซื้อ'แมสก์”แจกฟรี หมอ บุคลากรแพทย์ กลุ่มเสี่ยง รับมือโควิด-19
จุรินทร์”ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเวชภัณฑ์ป้องกัน เตรียมชง 'บิ๊กตู่' เพิ่มมาตรการเข้มรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เสนอรัฐบาลใช้งบประมาณซื้อ 'หน้ากากอนามัย' แจกฟรีให้โรงพยาบาล แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์อันดับแรก ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบแจกกลุ่มเสี่ยง ส่วนประชาชนให้ใช้หน้ากากทางเลือก หน้ากากผ้าแทน พร้อมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเวชภัณฑ์ป้องกัน ทั้งเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ หน้ากาก N95 ชุดป้องกัน ถุงมือยาง เทอร์โมมิเตอร์อย่าให้ขาด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมเรื่องการบริหารจัดการด้านเวชภัณฑ์ป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ว่า กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ให้ร่วมกันดูแลเรื่องเวชภัณฑ์ป้องกันไม่ให้ขาดแคลน และมีเพียงพอกับความต้องการใช้ จึงได้มีการประชุมร่วมกันและเห็นควรเสนอมาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกันที่จำเป็นต้องใช้รองรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว และจะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 23 มี.ค.2563 นี้ เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด และต้องเสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการ
โดยมาตรการดำเนินการในส่วนของหน้ากากอนามัย ได้กำหนดให้จัดหาให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ได้มากที่สุด เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้สูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อความปลอดภัย โดยกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ถ้ามีหน้ากากอนามัยเพิ่มจากเดิม 30-50% จากปัจจุบัน ก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้
ส่วนการกระจายให้กับกลุ่มเสี่ยง เห็นว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนไป มีการแพร่กระจายมากขึ้น และปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นพนักงานควบคุมโรคระดับพื้นที่ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงจะเสนอให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้พิจารณาการกระจายหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพราะจังหวัดรู้ดีว่าในพื้นที่ใครคือกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งจะต้องให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มีหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่ระบาด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาว่าความต้องการที่แท้จริงเป็นยังไงต่อไป สำหรับประชาชนทั่วไป จะรณรงค์ให้ใช้หน้ากากทางเลือก หน้ากากผ้า ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นโดยลำดับแล้ว
“จะเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระงบประมาณในส่วนนี้ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ เพราะหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ ต้องนำไปจัดสรรให้แพทย์ ให้บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก โดยจะเป็นการจัดสรรให้ฟรี ซึ่งต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนว่าเห็นชอบตามที่เสนอหรือไม่”นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย มีกำลังการผลิตได้วันละ 2.2 ล้านชิ้น และศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กรมการค้าภายใน ได้กระจายให้กับกระทรวงสาธารณสุขวันละ 1.3 ล้านชิ้น เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ อีก 9 แสนชิ้น กรมการค้าภายในกระจายให้กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และประชาชน ซึ่งจะดำเนินการตามรูปแบบนี้ไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการใหม่ออกมา ส่วนหน้ากากอนามัยคงเหลือที่ยังจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ก็จะยังยึดตามมาตรการเดิม โดยเฉพาะการกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด และการดำเนินการจับกุมผู้ค้ากำไรเกินควรตามกฎหมาย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเวชภัณฑ์ป้องกันอื่นๆ เช่น เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบไปดำเนินการให้มีการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ที่จำเป็นต้องใช้ เพราะขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ผ่อนผันให้นำเอทานอลซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมาเป็นส่วนผสมจำหน่ายได้แล้ว แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นมากขึ้น
ทางด้านหน้ากาก N95 ที่ใช้ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดหา และกระจายให้สถานพยาบาลทุกประเภท ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ชุด PPE (Personal Protection Equipment) อุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล หรือชุดคลุมทั้งตัวที่ต้องใช้ในห้องติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบในการจัดหาและกระจายเช่นเดียวกัน ถุงมือยางทางการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่ามีเพียงพอใช้ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ อย. รับเป็นเจ้าภาพอำนวยความสะดวกในการนำเข้าให้ง่ายขึ้น ภายใต้การควบคุมคุณภาพ
พาณิชย์ เผยผลิต 'แมสก์' เพิ่มเป็นวันละ 2.2 ล้านชิ้น จัดให้’หมอ-บุคลากรแพทย์’มากขึ้น
พาณิชย์ แจ้งความคืบหน้าการผลิตหน้ากากอนามัย ล่าสุดขยับเพิ่มเป็นวันละ 2.2 ล้านชิ้น หลังผู้ผลิตร่วมมือปรับสายการผลิต เผยได้กระจายให้สาธารณสุขเป็นวันละ 1.3 ล้านชิ้น ที่เหลือกรมการค้าภายในกระจายให้กลุ่มเสี่ยง และขายให้ประชาชนผ่านร้านธงฟ้า ร้านสะดวกซื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยได้ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่โรงงานผลิตที่มีอยู่ได้ให้ความร่วมมือในการปรับสายการผลิตหน้ากากชนิดอื่นมาเป็นการผลิตหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว ทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ผลิตได้วันละ 1.71 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 1.9 ล้านชิ้นในวันที่ 18 มี.ค.2563 และล่าสุดวันที่ 19 มี.ค.2563 ได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2.2 ล้านชิ้นแล้ว ทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการกระจายไปยังผู้ที่จำเป็นต้องใช้และประชาชนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายในได้แบ่งการกระจายหน้ากากอนามัย โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเป็นวันละ 1.3 ล้านชิ้น เพื่อให้กระจายต่อไปยังโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลกรมการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเอกชน สมาคมคลินิกไทย โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย สถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักอนามัย เป็นต้น ซึ่งทำให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการจัดสรรก่อนมีหน้ากากอนามัยใช้ เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันว่าหากได้รับหน้ากากอนามัยวันละ 1.1 ล้านชิ้น ก็สามารถบริหารจัดการรให้เพียงพอได้
ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะบริหารจัดการ โดยจะกระจายให้กับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ถูกกักตัวที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ผู้ทำงานในกลุ่มแพทย์ฉุกเฉิน เช่น มูลนิธิ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงเดิม เช่น ผู้ให้บริการในสนามบิน ตรวจคนเข้าเมือง ส่วนประชาชนทั่วไป ได้กระจายผ่านร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี วิลล่ามาร์เก็ต ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอินทนิล และล่าสุดกำลังจะกระจายผ่านคาเฟ่ อเมซอน
อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาที่ประชาชนยังไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ตามร้านที่กระจายไปนั้น ได้ขอความร่วมมือทางห้างและร้านสะดวกซื้อแล้ว ให้เปิดขายในตอนกลางวัน และให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันการเวียนซื้อ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น แม็คโคร เปิดจำหน่ายวันละ 2 รอบ และต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนที่ยังดูว่าสินค้ามีน้อย และหมดไว เนื่องจากทางห้างและร้านสะดวกซื้อ ต้องกระจายสินค้าลงไปยังสาขาต่างๆ หากมีสาขามาก ปริมาณสินค้าที่ลงไปก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะสินค้ามีจำกัด ซึ่งต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนหันมาใช้หน้ากากผ้าให้มากขึ้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web