- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 25 February 2020 13:43
- Hits: 1467
พาณิชย์ ยื่น WTO ค้านฟิลิปปินส์ตอบโต้ทางการค้ากับไทยกรณีพิพาทบุหรี่ หลังคดียังไม่จบ
พาณิชย์ ยื่นคัดค้านฟิลิปปินส์ต่อ WTO แล้ว หลังขอใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาทต่อปี กรณีข้อพิพาทเรื่องบุหรี่นำเข้า ยันไม่สามารถทำได้ เหตุคดียังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ และกรณีพิพาทยังไม่ถึงที่สุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่ฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 เพื่อขอใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้าไทยในคดีพิพาทบุหรี่นำเข้า โดยฟิลิปปินส์จะขอระงับการให้สิทธิประโยชน์หรือขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย เป็นมูลค่ากว่า 17,800 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากเห็นว่าไทยยังไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO ในกรณีพิพาทเรื่องการประเมินราคาศุลกากรกับสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ ว่า ไทยได้ยื่นโต้แย้งการกระทำของฟิลิปปินส์ต่อ WTO แล้ว โดยเห็นว่าฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้าไทยได้ เนื่องจากคดียังอยู่ในชั้นอุทธรณ์และการพิจารณาคดียังไม่ถึงที่สุด แม้ฟิลิปปินส์จะอ้างว่าขณะนี้เกิดวิกฤติใน WTO ที่ทำให้ไม่สามารถตั้งสมาขิกองค์กรอุทธรณ์ 6 ใน 7 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ จึงจำเป็นต้องเดินหน้าขอใช้สิทธิตอบโต้ไทย โดยไม่รอผลการตัดสินชั้นอุทธรณ์
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของฟิลิปปินส์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และฝ่ายไทยได้ยื่นหนังสือถึงประธานองค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO เพื่อคัดค้านการขอใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้าของฟิลิปปินส์แล้ว โดยเห็นว่าการดำเนินการของฟิลิปปินส์เป็นการข้ามขั้นตอนตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO และริดรอนสิทธิของไทยในกระบวนการระงับข้อพิพาท ซึ่งฟิลิปปินส์จะไม่สามารถใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้าไทยได้ จนกว่ากรณีพิพาทจะถึงที่สุด”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรณีพิพาทดังกล่าว ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ของ WTO จึงยังไม่ทราบผลการพิจารณาว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะ ดังนั้น คำร้องขอใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้าของฟิลิปปินส์จึงไม่ถูกต้อง และฝ่ายไทยจะคัดค้านและโต้แย้งเรื่องนี้อย่างเต็มที่
สำหรับ กรณีพิพาทเรื่องการประเมินราคาศุลกากรสินค้าบุหรี่นำเข้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 โดยฟิลิปปินส์ฟ้องว่า ไทยมีการประเมินราคาสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่ไม่สอดคล้องกับกฏเกณฑ์ของ WTO จริง และให้ไทยดำเนินการให้สอดคล้อง ซึ่งไทยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยมีกรมศุลกากรเป็นประธาน และปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำตัดสินเรื่องนี้ กรณีพิพาทจึงยังไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้องค์กรอุทธรณ์ มีสมาชิกเหลืออยู่เพียง 1 คนจากทั้งหมด 7 คน ทำให้การพิจารณาต้องหยุดชะงัก และยังไม่รู้ผลแพ้หรือชนะ ดังนั้น คำร้องขอใช้สิทธิตอบโต้ทางการค้าของฟิลิปปินส์จึงไม่ถูกต้อง และฝ่ายไทยจะคัดค้านและโต้แย้งเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่หากองค์กรอุทธรณ์มีคำตัดสินว่าไทยแพ้ ฟิลิปปินส์จะมีสิทธิตอบโต้ทางการค้ากับไทยทันที ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่าเท่ากับความเสียหายที่ฟิลิปปินส์ได้รับ แต่ฟิลิปปินส์ต้องพิสูจน์มูลค่าความเสียหายที่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง และไทยมีสิทธิโต้แย้งมูลค่าความเสียหายดังกล่าวก่อนที่ฟิลิปปินส์จะใช้สิทธิขึ้นภาษีกับไทย
กรมเจรจาฯ ชวนศึกษาข้อมูลและให้ความเห็นอัตราภาษีใหม่ของยูเค
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อัพเดตสถานการณ์ภายหลังเบร็กซิท ยูเคเผยแผนยกเลิกเก็บภาษีศุลกากร และปรับลดอัตราภาษีศุลกากรที่ยูเคจะเก็บกับประเทศที่สามซึ่งไม่มีเอฟทีเอและไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีกับยูเค เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนการผลิตสินค้าในยูเค จะเริ่มใช้กฎระเบียบของยูเค วันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการไทยศึกษาอัตราภาษีใหม่ของยูเคและแสดงความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 ยูเคจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียู และจะเริ่มใช้กฎระเบียบของยูเคเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเคได้เผยแพร่เอกสาร เรื่องการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่จะใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สาม (ประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับยูเคและประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ
จีเอสพีกับยูเค) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยจะปรับอัตราภาษีศุลกากรของยูเคให้มีความเหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น โดยมีแผนที่จะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของยูเค เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ผลิตสินค้าในยูเคและสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าภายในประเทศ และจะยกเลิกภาษีศุลกากรในสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้อย่างจำกัดภายในประเทศของยูเค รวมทั้งจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ปัจจุบันมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 2.5 หรือต่ำกว่า เพื่อลดภาระด้านพิธีการศุลกากร
และสำหรับสินค้าที่ปัจจุบันถูกเก็บภาษีในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 2.5 จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อลดภาษีลงในอัตราที่ต่างกัน ซึ่งอัตราภาษีที่ปรับใหม่นี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ยูเคเปิดรับความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรดังกล่าว ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2563 เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำอัตราภาษีที่เหมาะสมต่อไป โดยผู้สนใจสามารถให้ความเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.gov.uk/government/consultations/the-uk-global-tariff จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทย ผู้ส่งออกของไทย ศึกษาข้อมูลอัตราภาษีใหม่ของยูเค และแจ้งความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในส่วนของการยกเลิกและปรับลดอัตราภาษีที่ยูเคจะเก็บกับประเทศที่สามหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ (1) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมร้อยละ 2.5 หรือต่ำกว่า ยูเคจะยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าในกลุ่มนี้ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และหน่วยเก็บเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (2) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมไม่เกินร้อยละ 20 ยูเคจะแบ่งสินค้าเป็นระดับ (band) แต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกันร้อยละ 2.5 ประกอบด้วยอัตราภาษีที่ 17.5% 15% 12.5% 10% 7.5% 5% และ 2.5% ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้จะลดภาษีไม่เกินร้อยละ 2.5 อาทิ อัตราภาษีร้อยละ 18 จะลดลงเหลือร้อยละ 17.5 และอัตราภาษีร้อยละ 12.3 จะลดลงเหลือร้อยละ 10 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยูเคในกลุ่มนี้ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์ และแว่นตา (3) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมมากกว่าร้อยละ 20 แต่ไม่เกินร้อยละ 50 แบ่งสินค้าเป็นระดับ
โดยแต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกันร้อยละ 5 ประกอบด้วยอัตราภาษีที่ 45% 40% 35% 30% 25% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้จะลดภาษีไม่เกินร้อยละ 5 อาทิ อัตราภาษีร้อยละ 22 จะลดลงเหลือร้อยละ 20 และอัตราภาษีร้อยละ 48 จะลดลงเหลือร้อยละ 45 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยูเคในกลุ่มนี้ เช่น ปลาแปรรูป และยานยนต์น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน และ (4) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมร้อยละ 50 หรือมากกว่า แบ่งสินค้าเป็นระดับ โดยแต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกันร้อยละ 10 (อาทิ 60% 70% 80% และ 90%) เช่น อัตราภาษีร้อยละ 68 จะลดลงเหลือร้อยละ 60 สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น ยาสูบ
นางอรมน เสริมว่า นอกจากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรข้างต้นแล้ว ยูเคยังจะต้องเร่งเจรจาจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรบางรายการกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่ด้วย เนื่องจากไม่สามารถใช้โควตาร่วมกับอียูได้อีกต่อไปภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยไทยมีสินค้าที่ต้องเจรจาจัดสรรโควตาใหม่กับยูเค 32 รายการ เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้แทนของยูเคและอียู โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวมไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อตอนที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู
ทั้งนี้ การค้าไทยกับยูเคในปี 2562 มีมูลค่ารวม 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.04 โดยไทยส่งออกไปยูเค 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้นและไทยนำเข้าจากยูเค 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น
กรมเจรจาฯ’ เร่งสรุปผลการศึกษาการฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู เตรียมเสนอ กนศ. พิจารณา ก่อนส่งไม้ต่อให้ ครม. มั่นใจ กลางปีมีข้อสรุป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งเดินหน้าสรุปผลการศึกษาเพื่อฟื้นเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู คาด เสร็จสิ้นต้นมีนาคม เตรียมเสนอ กนศ. และ ครม. พิจารณา มั่นใจได้ข้อสรุปภายในกลางปี เชื่อ เอฟทีเอไทย-อียู เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้กรมฯ เตรียมฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังได้เคยเจรจากันไปแล้ว 4 รอบ แต่หยุดชะงักไปในปี 2557 และขณะนี้ได้รับสัญญาณจากอียูว่า อยู่ระหว่างเดินหน้าพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทยเช่นกันนั้น ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาประโยชน์ และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-อียู ที่ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ และจะเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในเว็บไซต์ของกรมฯ หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษา และผลการลงพื้นที่รับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม ที่จัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทยในปี 2562 เสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่อียูจะทราบผลการพิจารณาการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทยจากระดับนโยบายของอียูเช่นกัน ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการให้รอบคอบที่สุด
นางอรมน เสริมว่า ผลการศึกษาจะพิจารณารวมไปถึงประเด็นที่คาดว่าอียูจะหยิบยกขึ้นเจรจากับไทย โดยศึกษาจากเอฟทีเอที่อียูเจรจากับประเทศต่างๆ ทั้งที่ลงนามแล้วกับเวียดนาม สิงคโปร์ กลุ่มประเทศเมอร์โคซูร์ (บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย) และที่อียูอยู่ระหว่างเจรจากับอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งพบว่าเอฟทีเอที่อียูเจรจากับคู่ค้าครอบคลุมหลายเรื่องทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน การกำหนดกฎระเบียบการค้าต่างๆ เช่น สุขอนามัยพืชและสัตว์ กฎระเบียบทางเทคนิคด้านการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การพัฒนาที่ยั่งยืน การระงับข้อพิพาททางการค้า และ SME เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียด เงื่อนไข ข้อผูกพัน และข้อยกเว้นที่ต่างกันไป
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐสภายุโรปได้มีมติรับรองผลการเจรจา เอฟทีเอระหว่างอียูกับเวียดนาม จึงคาดว่าเอฟทีเอดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในปีนี้ ทำให้มีข้อกังวลว่าจะส่งผลให้เวียดนามได้เปรียบไทยในเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น รวมถึงการจ้างงาน และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงอยากให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่อียูยอมรับ เพราะผู้บริโภคอียูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานมีฝีมือ และปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศในไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบันอียู มีสมาชิก 27 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมกันกว่า 447 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และเป็นนักลงทุนลำดับ 2 ของไทย รองจากญี่ปุ่น โดยอียูมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในปี 2562 อียู 27 ประเทศ มี GDP กว่า 15.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการค้ากับไทยรวมมูลค่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปอียู รวมมูลค่า 2.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ยางและไก่แปรรูป และการนำเข้าจากอียู รวมมูลค่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web