- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 25 February 2020 12:40
- Hits: 2668
พาณิชย์ เข้มอีกขั้น ห้ามส่งออก’หน้ากากอนามัย’ทุกชิ้น ป้องกันในประเทศขาดแคลน
พาณิชย์”ปรับประกาศ กกร. ใหม่ ห้ามส่งออก 'หน้ากากอนามัย'ทุกชิ้น ป้องกันในประเทศขาดแคลน และดัดหลังพวกหัวหมอแอบส่งออกต่ำกว่า 500 ชิ้น ยอมให้นำติดตัวออกไปได้ไม่เกิน 30 ชิ้น พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องขอส่งออกเป็นกรณี เผยมีผู้ขอส่งออกรวม 32 ล้านชิ้น ให้ออกแค่รายเดียวเป็นหน้ากากชนิดพิเศษ พร้อมเร่งกระจายผ่าน 7-11 บิ๊กซี โลตัส วิลล่ามาร์เก็ต รวมเกิน 2 หมื่นสาขา จำกัดซื้อคนละ 4 ชิ้นๆ ละ 2.50 บาท เผยสต๊อกล่าสุด มีแจ้งมารวม 28 ล้านชิ้น เพิ่มจาก 6 ก.พ.63 ที่มีแค่ 2.17 แสนชิ้น
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม โดยห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชิ้น เพื่อป้องกันในประเทศขาดแคลน จากเดิมกำหนดให้การส่งออกตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไปต้องขออนุญาตส่งออกกับกรมการค้าภายในก่อน เพราะที่ผ่านมา มีบางรายใช้วิธีการส่งออกไม่เกิน 500 ชิ้น แต่ส่งออกวันละเป็นสิบๆ เที่ยว จึงต้องห้ามทั้งหมด แต่ผ่อนผันให้ใน 2 กรณี คือ นำออกไปใช้ส่วนตัวได้ไม่เกิน 30 ชิ้น หรือหากกรณีเป็นผู้ป่วย ต้องมีใบรับรองแพทย์ นำออกได้ไม่เกิน 50 ชิ้น
ส่วนการส่งออกทั่วไป ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีกรรมการจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณา เพื่ออนุญาตการส่งออกไปกรณีๆ ไป เช่น การส่งออกไปให้สถานทูต การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ไม่ใช้ในไทย หรือไม่ได้ส่งออกเพื่อการค้าหรือหากำไร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการขออนุญาตส่งออกเข้ามารวม 32 ล้านชิ้น ซึ่งกรมฯ ได้ระงับการส่งออกเกือบ 100% เพราะหากให้ส่งออก ในประเทศก็ไม่มีใช้ โดยรายที่อนุญาตให้ส่งออก คือ หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในไทย เป็นหน้ากากพลาสติก และมีลิขสิทธิ์ในการผลิต จำนวน 2.1 ล้านชิ้น และมีเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรายนี้ ต้องผลิตหน้ากากแบบที่ใช้ป้องกันโรคเพื่อจัดส่งให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยจะผลิตในเดือนก.พ.2563 จำนวน 2.9 ล้านชิ้น เดือนมี.ค.2563 จำนวน 5.4 ล้านชิ้น และในจำนวนที่ขออนุญาตส่งออกมีประมาณ 7-8 ราย ได้มาขอถอนการขออนุญาตส่งออกประมาณ 11 ล้านชิ้น ซึ่งพอสอบถามเพื่อขอแบ่งปันเพื่อนำกระจายในประเทศ ได้คำตอบว่าเป็นการขอตัวเลขไว้ก่อน ไม่ได้มีสินค้าในมืออยู่จริง
นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับการกระจายหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน นอกเหนือจากการจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ กระจายผ่านร้านธงฟ้าประมาณ 900 แห่งทั่วประเทศ ยังได้กระจายให้องค์การเภสัชกรรม สมาคมร้านขายยา การบินไทย ซึ่งเป็นผู้ที่จำเป็นต้องใช้ และล่าสุดได้เพิ่มร้านสะดวกซื้อ 7-11 และบิ๊กซี กำลังจะเพิ่มไปเทสโก้ โลตัส วิลล่า มาร์เก็ต รวมๆ แล้วน่าจะมี 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ แต่จะจำกัดการซื้อไม่เกินคนละ 4 ชิ้นๆ ละ 2.50 บาท หรือจ่ายแค่ 10 บาท
“มั่นใจว่า หน้ากากอนามัยจะสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง และประชาชนจะหาซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้สินค้าเริ่มมีมากขึ้นแล้ว โดยมีกำลังการผลิตวันละ 1.3 ล้านชิ้น และยังได้ห้ามการส่งออก ประกอบกับการเช็กสต๊อกล่าสุด มีรายงานเข้ามา ณ วันที่ 20 ก.พ.2563 ว่ามีสต๊อกจำนวน 28 ล้านชิ้น อยู่ในมือผู้ผลิต 20 ล้านชิ้น และที่เหลืออยู่ในมือผู้ค้า เพิ่มขึ้นจากวันที่ 6 ก.พ.2563 ที่มีการแจ้งสต็อกในมือแค่ 2.17 แสนชิ้น เป็นตัวเลขที่ผมจำได้ขึ้นใจ เพราะตอนนั้น มีการคุยกันว่าสต๊อกมีสูงถึง 200 ล้านชิ้น แสดงว่าก่อนที่จะห้ามส่งออก มีคนแอบส่งออกไปเยอะ อย่างปี 2562 ทั้งปี ส่งออกเพิ่มขึ้น 200% เฉพาะม.ค.2563 เดือนเดียว เพิ่มขึ้น 300%”นายวิชัยกล่าว
นายวิชัย กล่าวว่า กรมฯ ยังได้เดินหน้าตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้ว 30 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ค้าออนไลน์ 3 ราย ตัวอย่างโทษ เช่น ซื้อมา 29 บาท ขาย 129 บาท หรือซื้อมา 5 บาท ขาย 15-20 บาท ซึ่งได้จับกุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี และส่งอัยการฟ้องศาลแล้ว มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรมฯ อยากจะฝากถึงผู้ครอบครองหน้ากากอนามัย อย่าค้ากำไรเกินควรและฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ควรเอากำไรที่เหมาะสม เพราะถ้ากรมฯ ได้รับการร้องเรียน ก็จะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้รับทราบจากกระทรวงมหาดไทย ที่จะประสานเครือข่าย เช่น ผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) เครือข่ายแม่บ้าน ทำการผลิตหน้ากากอนามัยผ้า เป้าหมาย 50 ล้านชิ้นต่อเดือน หากรวมกับที่ผู้ผลิตๆ ได้ประมาณ 35 ล้านชิ้นต่อเดือน ก็จะทำให้มีหน้ากากอนามัยกว่า 80 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งมีเพียงพอใช้อย่างแน่นอน
กระทรวงพาณิชย์ยกระดับป้องกันความเสี่ยงโรคโควิด-19
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน เสนอควบคุมการค้าหน้ากากอนามัยป้องกันโรคโควิด-19 สกัดการส่งออกและเร่งกระจายในประเทศให้ถึงมือผู้มีความเสี่ยงอย่างทั่วถึง
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้ชี้แจงว่า จากการที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมการค้าภายในเข้ามาดูแลเกี่ยวกับการจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับชาวไทยอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันการติดต่อของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2563 เป็นต้นมา
กรมการค้าภายใน ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายบรรลุผล โดยได้เสนอให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกสำหรับผู้ที่ต้องการส่งออก ตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไป ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย แจ้งปริมาณการเก็บสต๊อก ราคาซื้อขาย ต้นทุนการผลิต ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2563 เป็นต้นมา และยังได้กำหนดกติกาให้ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้จัดสรรหน้ากากอนามัย จำหน่ายให้กับศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน จัดการในการกระจาย 5.55 ล้านชิ้น ซึ่ง กกร. มีคำสั่งให้ตั้งขึ้นมา
โดยกระจายให้องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาล จำนวน 3.5 ล้านชิ้น ร้านธงฟ้าลดค่าครองชีพ 1.8 ล้านชิ้น การบินไทย 1.8 แสนชิ้น สมาคมร้านขายยา 1.75 แสนชิ้น รวมเดือน ก.พ. 2563 12 ล้านชิ้น สำหรับในเดือน มี.ค. 2563 จะมีหน้ากากอนามัยเข้ามาในศูนย์ฯ อีกไม่น้อยกว่า 15 ล้านชิ้น เพื่อกระจายให้ทั่วถึง รวมถึงให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควรและฝ่าฝืนประกาศที่ กกร. กำหนด อย่างจริงจังและเด็ดขาด ความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องการแจ้งปริมาณการครอบครองหน้ากากอนามัยมีผู้แจ้งตามกำหนดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563 มี 2 ราย จำนวน 2.17 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจึงออกหมายเรียกให้ผู้ที่ครอบครองหน้ากากอนามัยเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และส่งทีมงานออกตรวจสต๊อก ปรากฏว่าถึงวันที่ 20 ก.พ. 2563 มีผู้แจ้งสต๊อกเพิ่มขึ้นเป็น 74 ราย มีสต๊อกรวม 28 ล้านชิ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีหน้ากากอนามัยป้อนตลาดได้มากขึ้น
การควบคุมการส่งออกมีผู้ค้าขออนุญาตส่งออกรวม 100 ราย เป็นจำนวนที่ขอส่งออก 32.68 ล้านชิ้น คณะอนุกรรมการพิจารณาการขออนุญาตการส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัยที่กรมการค้าภายในได้พิจารณาที่จะให้ส่งออก ส่งออกได้เฉพาะหน้ากากที่มีคุณลักษณะหรือสเปคที่ไม่ได้ใช้ในเมืองไทย มีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ว่าจ้างผลิต และมีความพร้อมในการผลิตในสเปคที่ใช้ในเมืองไทยที่ป้อนให้ตลาดเมืองไทยเป็นลำดับแรก ถึงขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการพิจารณาอนุญาตแล้ว 1 ราย จำนวน 2.1 ล้านชิ้น โดยผู้ส่งออกยอมรับเงื่อนไขที่จะผลิตให้ผู้ซื้อในประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านชิ้น ส่วนผู้ส่งออกรายอื่นยังไม่อนุมัติให้ส่งออกได้
สืบเนื่องจากการเข้มงวดการขออนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ที่พยายามแยกการส่งออกไม่ให้ถึง 500 ชิ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขการขออนุญาต คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการจึงมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยยกเว้นได้รับการอนุญาตจากเลขานุการ กกร. ตามความเห็นของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามที่ กกร. ตั้งขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2563 เป็นต้นไป โดยการนำออกได้มีได้กรณีเดียวคือ การนำไปใช้เป็นการส่วนตัว จำนวนไม่เกิน 30 ชิ้น/คน/ครั้ง ยกเว้นคนป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ให้นำติดตัวได้ไม่เกิน 50 ชิ้น
สำหรับ กรณีประเทศเพื่อนบ้าน หากมีความจำเป็นใช้ให้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง โดยขอให้มีคำขอระบุการขออนุญาตส่งออกในจำนวนที่ต้องการในนามของรัฐบาลโดยตรงกรมฯ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการอนุญาต การส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัยซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ร่วมพิจารณา สำหรับการจัดสรรเพื่อให้ผู้ใช้มีปริมาณเพียงพอ ราคาเป็นธรรม ซึ่งกรมฯ ได้แจ้งผู้ครอบครองหน้ากากอนามัยให้จัดสรรให้กับศูนย์บริหารจัดการฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปริมาณที่ครอบครอง โดยกำหนดเวลาให้จัดสรรได้ภายในวันที่ 21 ก.พ. 2563 หากเลยวันนี้ไปแล้วจะฝ่าฝืนกฎหมาย กกร. มาตรา 25 (9) มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอเตือนให้ผู้ครอบครองปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web