- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 25 February 2020 12:37
- Hits: 2385
พาณิชย์ ช่วย SMEs ที่ได้รับผลกระทบถูกสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี พาหาตลาดใหม่-ตลาดรอง
พาณิชย์ เตรียมช่วย SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีสหรัฐฯ จะตัดจีเอสพีสินค้าไทยเดือนเม.ย.63 หลังได้รับแจ้งข้อมูลจากภาคเอกชนมีรวม 50 ราย เตรียมช่วยหาตลาดใหม่ พาเจาะตลาดที่มีศักยภาพ เปิดคลินิกให้จับเข่าคุยกับทูตพาณิชย์โดยตรง ส่วนยอดรวมใช้สิทธิจีเอสพีทั้งปี 62 มีมูลค่า 5,254.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.48% สหรัฐฯ นำโด่ง ขณะที่การใช้สิทธิเอฟทีเอ มูลค่า 65,560.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.81% อาเซียนแชมป์ใช้สิทธิสูงสุด
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับหนังสือตอบกลับจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กรณีที่ให้ช่วยสอบถามสมาชิกว่ามีสินค้ากลุ่มไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐฯ จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยในเดือนเม.ย.2563 ที่จะถึงนี้ โดยได้รับแจ้งว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 30 ราย จาก 50 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ผลิตสินค้าส่งออกในกลุ่มยางพารา เหล็ก เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารปรุงแต่ง ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น ที่จะได้รับผลกระทบ และต้องการให้ช่วยเหลือ ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แล้ว ทั้งมาตรการด้านการเงิน การตลาด การอำนวยความสะดวกทางการค้า
โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือ กรมฯ ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการดำเนินการ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากถูกระงับสิทธิจีเอสพี โดยการแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพใหม่ๆ หรือเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ อเมริกาเหนือ มีการขยายตัวในสินค้าอาหารสำเร็จรูปประเภทวีแกน เอเชียใต้ เน้นอินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวของอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น และยังมีตลาดรองที่น่าสนใจ ที่จะผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นได้ เช่น กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า ไปตลาดญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย กลุ่มยานยนต์ เรือยนต์ ส่วนประกอบ ไปตลาดแอฟริกาใต้ ปากีสถาน อินโดนีเซีย กลุ่มเครื่องเดินทาง ไปตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมนำผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย ทั้งที่ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบและได้รับผลกระทบ เข้าร่วมงานเสวนา ‘ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร’ ในวันที่ 25 ก.พ.2563 ที่อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะมาให้ข้อมูลถึงสถานการณ์การตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสและทางเลือกในการหาตลาดใหม่ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านการเงินและการลงทุน ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 27 ก.พ.2563 จะนำผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย ไปพบปะกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ในช่วงที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดเอ็กซ์ปอร์ตคลินิก เพื่อให้ปรึกษากับทูตพาณิชย์โดยตรง ซึ่งน่าจะช่วยได้ตรงจุด เพราะผู้ประกอบการจะได้ทราบโอกาสและความต้องการของตลาดใหม่ๆ ที่จะมาช่วยรองรับการส่งออก
นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิจีเอสพีในช่วงปี 2562 (ม.ค.-ธ.ค.) ที่ผ่านมา มีการส่งออกโดยใช้สิทธิรวม 5,254.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.48% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.05% จากสินค้าที่ได้สิทธิรวม 8,334.04 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ มีการใช้สิทธิสูงสุด 4,787.07% เพิ่มขึ้น 10.20% รองลงมา คือ รัสเซีย ใช้สิทธิ 139.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.63% สวิตเซอร์แลนด์ ใช้สิทธิ 299.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.003% และนอร์เวย์ ใช้สิทธิ 27.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.21%
ส่วนการใช้สิทธิภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในปี 2562 มีมูลค่า 65,560.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.81% คิดเป็นสัดส่วน 76.51% จากมูลสินค้าที่ได้รับสิทธิรวม 85,693.57 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 24,553.40 ล้านเหรียญ จีน มูลค่า 18,021.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 7,746.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 7,456.31 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 4,270.93 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ยอดรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้ง 2 ระบบ ทั้งจีเอสพีและเอฟทีเอรวมกันมีมูลค่า 70,815.32 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 75.31% ของการใช้สิทธิรวม และลดลง 4.45%
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web