- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 24 February 2020 23:41
- Hits: 6793
คต. เผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ทั้งปี 62 พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการตอบแบบสอบถามผลกระทบ GSP-เข้าร่วมงานเสวนา ‘ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร’
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2562 โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมเท่ากับ 70,815.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ร้อยละ 75.31 การใช้สิทธิฯ 12 เดือนของปี 2562 ลดลงร้อยละ 4.45 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 65,560.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 5,254.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในช่วง 12 เดือน ของปี 2562 จำนวน 11 ฉบับ ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก (Self-declaration) มีมูลค่า 65,560.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5.81 สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกทั้งปี 2562 ที่ลดลงร้อยละ 1.3 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 76.51 โดยตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลง ได้แก่ 1) อาเซียน ลดลงร้อยละ 8.69 2) ออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 15.07 3) ชิลี ลดลงร้อยละ 28.74 4) อินเดีย ลดลงร้อยละ 4.38 5) ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 1.45 และ 6) เกาหลี ลดลงร้อยละ 6.69 อย่างไรก็ดี ยังมีบางตลาดที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ ได้แก่ 1) จีน ขยายตัวร้อยละ 2.20 2) นิวซีแลนด์ ขยายตัวร้อยละ 0.69 และ 3) เปรู ขยายตัวร้อยละ 32.00
การส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 24,553.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส น้ำตาลจากอ้อย รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. 2) จีน (มูลค่า 18,021.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 7,746.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ รถยนต์ส่วนบุคคลความจุกระบอกสูบเกิน 1,500 แต่ไม่เกิน 2,500 ลบ.ซม. เครื่องปรับอากาศติดผนัง 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 7,456.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ปลาแมคเคอเรล เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง และ 5) อินเดีย (มูลค่า 4,270.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เครื่องปรับอากาศ โพลิคาร์บอเนต เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ กรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 100) 2) ไทย-เปรู (ร้อยละ 91.65) 3) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 90.04) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 88.58) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 81.92) ส่วนรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส ยานยนต์เพื่อขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. น้ำตาลจากอ้อยอื่นๆ
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2562 ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ตลอดปี 2562 เท่ากับ 5,254.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 16.48 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 63.05 ตลาดที่ไทยส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 4,787.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.20 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 67.00 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 299.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเพียงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.003 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 35.85
อันดับสาม คือ รัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 139.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.63 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 79.04 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 27.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.21 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยางอื่นๆ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ และเลนส์แว่นตา
สำหรับการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ในปี 2562 พบว่ามีการใช้สิทธิฯ มากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 4,787.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 4,344.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.20 โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ ภายใต้ GSP สหรัฐฯ สูง 10 อันดับแรกของปี 2562 ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ เลนส์แว่นตา ชิ้นส่วนยานยนต์ แว่นตาอื่นๆ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องสูบเชื้อเพลิง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเดิมที่มีการใช้สิทธิฯ สูงอยู่แล้วในปี 2561 โดยผู้ประกอบการได้รับการยกเว้นภาษีในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.31 คิดเป็นมูลค่า 176.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในกรณีสหรัฐฯ ระงับสิทธิ GSP สินค้าไทยบางรายการ กรมการค้าต่างประเทศเล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
พร้อมแนะนำผู้ประกอบการเตรียมรับมือจากกรณีดังกล่าว โดยแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพใหม่ๆ หรือเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อาทิ อเมริกาเหนือ (มีการขยายตัวในสินค้าอาหารสำเร็จรูปประเภทวีแกน) เอเชียใต้ (อินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวของอาหารสำเร็จรูป) เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากถูกระงับสิทธิ GSP นอกจากนี้ ยังมีตลาดรองที่น่าสนใจโดยไทยมีการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ในปี 2561 อาทิ กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล/อุปกรณ์ไฟฟ้า (ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย) กลุ่มยานยนต์/เรือยนต์/ส่วนประกอบ (แอฟริกาใต้ ปากีสถาน อินโดนีเซีย) กลุ่มเครื่องเดินทาง (สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เพื่อเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการรับมือกรณีระงับสิทธิ GSP สินค้าไทยของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำแบบสอบถาม “ผลกระทบกรณีสหรัฐอเมริการะงับการให้สิทธิ GSP สินค้าไทย และมาตรการช่วยเหลือ” เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการกำหนดนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือที่ภาคเอกชนประสงค์จะได้รับจากภาครัฐในอนาคต อาทิ นโยบาย/มาตรการด้านการเงิน การตลาด การอำนวยความสะดวก โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าไปให้ข้อมูลได้ตามประกาศหน้าเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศที่ www.dft.go.th
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และธนาคาร EXIM Bank มีกำหนดจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร?” ในวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 8-9 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี โดยภายในงานประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสและทางเลือกตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) จึงขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมงานในวันและเวลาดังกล่าว ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/jo6P5T6qhGJP9Nt49 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-547-4760
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web