- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 18 February 2020 11:43
- Hits: 3472
WTO เผยสมาชิกกีดกันการค้าพุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี ใช้รวม 102 มาตรการ ฉุดการค้าโลกชะงัก
พาณิชย์ เผยเดือนต.ค.61-ต.ค.62 สมาชิก WTO ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น 27% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 55 ครอบคลุมมูลค่าการค้า 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รวมใช้มากถึง 102 มาตรการ มีทั้งขึ้นภาษี ห้ามนำเข้า เก็บค่าธรรมเนียม แต่ใช้เอดี/ซีวีดี/เซฟการ์ด ปกป้องการค้ามากสุด สหรัฐฯ แชมป์ใช้เอดี ตามด้วยอินเดีย จีน ส่วนประเทศถูกใช้เอดีมากสุด มีทั้งจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย ระบุการค้าโลกชะงัก แถมฉุดเศรษฐกิจโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ WTO ได้เผยแพร่รายงานติดตามสภาวะการค้า (Trade Monitoring Report) โดยระบุว่า การค้าโลกทวีความตึงเครียดมากขึ้น เพราะในรอบ 1 ปี หรือตั้งแต่เดือนต.ค.2561-ต.ค.2562 สมาชิก WTO ได้ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันมากขึ้นถึง 102 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้าราว 750,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 และเพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 588,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าระหว่างประเทศ และฉุดเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2563 การค้าโลกจะขยายตัวเพียง 2.7% จากเดิมคาดขยายตัว 3%
โดยมาตรการที่นำมาใช้ พบว่า ด้านการนำเข้า มีการใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรมากที่สุด ตามด้วยการห้ามนำเข้า การใช้พิธีการศุลกากรที่เข้มงวด และการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่วนด้านการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บภาษีสินค้าส่งออก การกำหนดเงื่อนไขและใบอนุญาตส่งออก การจำกัดปริมาณ เป็นต้น สินค้าที่ถูกกีดกันทางการค้ามากที่สุด ได้แก่ แร่และเชื้อเพลิง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และโลหะมีค่า เป็นต้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ WTO ได้เริ่มจัดทำรายงานดังกล่าวเมื่อปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่า การนำเข้าของโลกสัดส่วน 7.5% ของการนำเข้าของโลกทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการนำเข้า ส่วน ณ สิ้นปี 2561 การนำเข้าสินค้าได้รับผลบกระทบจากการใช้มาตรการต่างๆ คิดเป็นมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าของโลกที่ 19.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากนับถึงเดือนต.ค.2562 มูลค่าผลกระทบจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่า มูลค่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สมาชิกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้า โดยในรอบ 1 ปี สมาชิกเปิดการไต่สวนเฉลี่ย 23 ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้ามูลค่า 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการยุติการไต่สวนและยกเลิกใช้มาตรการเอดีเฉลี่ย 16 ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้ามูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสมาชิกที่ใช้มาตรการเอดีมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย และจีน สินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ส่วนสมาชิกที่ถูกใช้มาตรการเอดี มากที่สุด คือ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย
นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) โดยสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป (อียู) ใช้มาตรการดังกล่าวมากที่สุด สินค้าที่ถูกเปิดไต่สวนส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ แก้ว หิน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แร่ และผัก สมาชิกที่ถูกไต่สวนมากที่สุดยังคงเป็นจีน รองลงมา ได้แก่ อินเดีย และตุรกี ในส่วนของมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) มาดากัสการ์เป็นประเทศที่ใช้มากที่สุด สินค้าที่ถูกไต่สวน ได้แก่ โลหะ หิน ปูนปลาสเตอร์ สิ่งทอ อาหาร และเครื่องจักร
ขณะเดียวกัน สมาชิกใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มขึ้น 120 มาตรการ เช่น การลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าและส่งออก และการผ่อนปรนพิธีการศุลกากรให้ยืดหยุ่นขึ้น เป็นต้น ครอบคลุมการค้ามูลค่า 540,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ทองแดง และยานยนต์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ประเทศใหญ่ๆ ใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นการฉุดรั้งการค้าระหว่างประเทศ และมีส่วนทำให้การค้าโลกไม่ขยายตัว ที่สำคัญ หากมีการใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรม อาจไม่มีกลไกระงับข้อพิพาท เพราะขณะนี้ องค์กรอุทธรณ์ของ WTO ซึ่งเป็นผู้ระงับข้อพิพาททางการค้า ปัจจุบันสมาชิก 6 ใน 7 คนหมดวาระลง ส่วนอีก 1 คนที่เหลือ จะหมดวาระลงในปีนี้ และยังไม่ได้เลือกสมาชิกใหม่ จึงทำให้การระงับข้อพิพาทของสมาชิก ที่มีการฟ้องร้องกันต้องหยุดชะงัก ซึ่งขณะนี้ สมาชิกส่วนใหญ่มีความพยายามจะแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ ในขณะที่สมาชิกอีกหลายประเทศ ต้องการให้มีการปฏิรูป WTO ให้เสร็จก่อนจึงจะเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web