- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 15 February 2020 12:21
- Hits: 4630
วีรศักดิ์ หนุนนักคิด นักวิจัยไทย สร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุ รองรับสังคมสูงวัยเติบโต
วีรศักดิ์ หนุนนักคิด นักวิจัยคนไทย สร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุ รองรับการเติบโตของสังคมสูงวัย เผยกรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมช่วย สแกนการยื่นจดสิทธิบัตรทั้งของไทยและทั่วโลก พบช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นจดรวม 856 ฉบับ อยู่ในจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมากสุด ส่วนในไทยก็มี แต่ยังน้อย ชี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แนะใครมีความคิด มีไอเดีย มาปรึกษาได้
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดทำรายงานบทวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ โดยนำข้อมูลสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลต่างประเทศและของไทยมาวิเคราะห์ เพื่อให้สะท้อนแนวโน้มและโอกาสทางการตลาดของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยจากการศึกษาพบว่า มีการยื่นจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์สำหรับผู้สูงอายุทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวน 856 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ดูแล (Caregiver) ใช้สำหรับอำนวยความสะดวกและดูแลผู้สูงอายุ แขนกลสำหรับช่วยผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก (Robotic Arm) และหุ่นยนต์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการติดต่อสื่อสาร
ทั้งนี้ 3 ประเทศที่ยื่นจดสิทธิบัตรในเทคโนโลยีหุ่นยนต์สูงอายุมากที่สุด พบว่า อยู่ในเอเชียทั้งสิ้น คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ระบุว่าเอเชียมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และในไทย มีสัดส่วนการยื่นจดสิทธิบัตรของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผู้สูงอายุโดยคนต่างชาติและคนไทยมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก แบ่งเป็นคนไทย 52% และต่างชาติ 48% แต่จำนวนการยื่นสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ผู้สูงอายุยังมีค่อนข้างน้อยเฉลี่ย 4 ฉบับต่อปี สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงมีโอกาสการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าวอีกมากในอนาคต
“โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หลายประเทศเตรียมความพร้อมปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน และเล็งเห็นถึงผลกระทบของเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอกับผู้สูงอายุที่มากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญที่จะเข้ามาทดแทนบุคลากรที่มีไม่เพียงพอ และเพื่อเป็นการจะรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะสนับสนุนนักคิด นักวิจัย ให้มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อผู้สูงอายุ โดยสามารถเข้ามาศึกษารายละเอียดของสิทธิบัตรที่มีการยื่นจดทะเบียนไว้แล้ว หรือปรึกษาในเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุ”นายวีรศักดิ์กล่าว
ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ มีบริการศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE Center) ที่ตั้งอยู่ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยศูนย์ฯ นี้ ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว เพื่อนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของสถานการณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้สนใจที่เกี่ยวข้องน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตรงกับแนวโน้มความต้องการของตลาดได้ โดยสามารถติดต่อรับข้อมูลและคำแนะนำผ่านศูนย์ฯ ได้ที่ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 02-547-6034 ในวันและเวลาราชการ
วีรศักดิ์ คิกออฟเปิดตัวโครงการ 'อยู่เป็น'บูมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุครบวงจร
รมช.พณ.เปิดตัวโครงการ 'อยู่เป็น'ชูโรดแมพส่งเสริมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัยแบบครบวงจร เน้นพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุ พร้อมแนะสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้สูงวัย บูมธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุให้โดดเด่นเป็นทางเลือกของสังคม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจและมีมาตรฐานตามหลักสากล การพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักในวงกว้างเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน และสร้างโอกาสทางการตลาดโดยผลักดันให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้นซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโต
สำหรับ แนวทางการส่งเสริมนั้น ได้มอบหมายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดทำโรดแมพเพื่อผลักดันภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยได้จัดทำโครงการ "อยู่เป็น" ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และรองรับสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2573 ซึ่งกำหนดแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้ 1.การสร้างการรับรู้ (Awareness) ด้วยการเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทักษะการบริการจัดการ กฎระเบียบที่จำเป็น การสร้างมาตรฐานสากล
2.การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ผ่านการใช้ Knowledge Experience,การสร้าง Networking,การเป็น Good Governance Standardization 3.การสร้าง Supply Chain โดยสร้างกลุ่มธุรกิจที่สนองความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น การส่งเสริมให้ใช้อุปกรณ์มาตรฐานสากลสูงในการดูแลผู้สูงอายุ และ 4.การสร้าง Ecosystem อาทิ การผลักดันมาตรฐานธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมการลงทุน จาก BOI การสนับสนุนผลิตภัณฑ์/บริการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
และเพื่อให้การดำเนินโครงการ 'อยู่เป็น' สามารถสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุ จึงใช้โอกาสวันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นวันเปิดตัวโครงการฯ เนื่องจากต้องการให้ทุกคนเตรียมพร้อมก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยความรัก และตัวโครงการ "อยู่เป็น" ก็เป็นความรักที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งความรักระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง/ความรักระหว่างบุตรหลานกับผู้สูงอายุ/รวมถึงความรักและความปรารถนาดีระหว่างผู้ประกอบการกับครอบครัวผู้สูงอายุที่จะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ ดังนั้นวันแห่งความรักจึงเป็นวันที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเปิดตัวโครงการ "อยู่เป็น"
โดยในวันนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เชิญกูรูด้านไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุจาก SCG มาร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมในสาขาต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทำให้สามารถอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุได้ตลอด 24 ชั่วโมง (24 Hours Innovation for Older Persons) พร้อมทั้งนำสินค้านวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ Dulare : ระบบ information ของ nursing home, Prompt-U : บริการ Solution ในการปรับปรุงบ้าน/อาคารเพื่อผู้สูงอายุ, Habiimat : สินค้าพื้น Softfloor มาร่วมแสดงด้วย
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า ไม่เฉพาะแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ต้องมีการปรับตัวรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของไทย ภาครัฐก็มีความท้าทายในการวางแผนเพื่อรับมือด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ การส่งเสริมและขยายโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ การสร้างและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและปลอดภัยในที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ
กล่าวโดยสรุป ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีความน่าสนใจและยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว ผู้ที่สนใจจะเริ่มลงทุนทำธุรกิจจึงควรศึกษามาตรฐานของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้ดี เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกทำธุรกิจที่ตนเองมีความสนใจ รวมถึงการมีไอเดียสร้างสรรค์และหาหนทางนำธุรกิจตัวเองเข้าไปจับลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำหนดจัดอบรมหลักสูตร 'A-list Business 2020 : ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ' ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2, 3, 10, 16 และ 17 มีนาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 6 วัน (36 ชั่วโมง) ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ในเชิงลึกให้แก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยงในธุรกิจได้อย่างเหมาะสม รมช.พณ. กล่าวปิดท้าย
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12,361,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนพัฒนาธุรกิจบริการ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 02547 5963, สายด่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570 และ www.dbd.go.th
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web